svasdssvasds

เปิดใจนักดาราศาสตร์ไทยคนแรก ลุยขั้วโลกใต้เก็บข้อมูลรังสี [คลิป]

เปิดใจนักดาราศาสตร์ไทยคนแรก ลุยขั้วโลกใต้เก็บข้อมูลรังสี [คลิป]

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

นายพงษ์พิจิตร ชวนรักษาสัตย์ นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. นักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรก ที่ได้เดินทางไปสำรวจและวิจัยด้านดาราศาสตร์ที่ทวีปแอนตาร์กติกา หรือ ขั้วโลกใต้ ตรวจความพร้อมเครื่องตรวจวัดนิวตรอนและคอมพิวเตอร์ประมวลผลและเก็บข้อมูล ที่ติดตั้งในตู้คอนเทนเนอร์ "ช้างแวน" ก่อนออกเดินทางไปกับเรือสำรวจวิจัย “เชว่หลง" (Xue Long) หรือ “เรือมังกรหิมะ” ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จีน เพื่อศึกษาอิทธิพลของรังสีคอสมิกที่มีต่อโลก ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 โดยมีระยะเวลาการเดินทางรวม 5 เดือน

 

นายพงษ์พิจิตร เปิดใจกับภารกิจนี้ ว่า รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ได้รับเลือกให้เดินทางไปกับกลุ่มวิจัยขั้วโลกในครั้งนี้ ตอนนี้ได้เตรียมความพร้อมด้านร่างกายที่จะต้องเผชิญกับสภาพอากาศแถบขั้วโลก พร้อมกับความรู้เพื่อให้การทดลองสำเร็จไปด้วยดีและคาดหวังว่าการสำรวจวิจัยครั้งนี้จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาดาราศาสตร์ให้กับคนรุ่นใหม่ของประเทศไทย

 

สำหรับรังสีคอสมิก มีอิทธิพลต่อโลกอย่างไร นายพงษ์พิจิตร อธิบายว่า หากเปลี่ยนเทียบง่ายๆ เมื่อเกิดพายุสิริยะ แล้วบริเวณที่เป็นขั้วโลกจะเกิดแสงออโรรา หรือ แสงเหนือแสงใต้ ซึ่งเกิดจากรังสีคอสมิกที่มาทำปฏิกิริยากับโมเลกุลของอากาศในชั้นบรรยากาศของโลก แต่รังสีคอสมิกไม่ได้เข้ามาแล้วทำให้เกิดแสงออโรราอย่างเดียว แต่เข้ามาทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ รวมทั้งยังมีผลต่อพันธุกรรม สามารถทำให้เซลล์กลายพันธุ์ได้ ฉะนั้นหากศึกษาได้ว่าแต่ละติจูดมีอิทธิพลของรังสีเหล่านี้มากเท่าไหร่ จะทำให้สามารถหาวิธีป้องกัน หรือวิธีช่วยลดปริมาณรังสีคอสมิกได้

 

ทั้งนี้  สถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน ได้รับอนุมัติให้นำตู้คอนเทนเนอร์ติดตั้งบนเรือสำรวจวิจัย “เชว่หลง" (Xue Long) หรือ “เรือมังกรหิมะ” ออกเดินทางเก็บข้อมูลจากเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไปยังสถานีวิจัยจงซาน (Zhongshan) ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกา

 

สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ “ช้างแวน” พัฒนาโดยนักวิจัยไทยและได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเดลาแวร์และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ริเวอร์ฟอลส์ สหรัฐอเมริกา ภายในติดตั้งเครื่องตรวจวัดนิวตรอน  มีระบบควบคุมอุณภูมิภายในให้คงที่และห้องควบคุมที่ใช้อิเล็กทรอนิกซ์และซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ มีกำหนดส่งคอนเทนเนอร์ช้างแวนที่ไปยังเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ก่อนที่เรือสำรวจวิจัยจะออกเดินทางออกจากจากสาธาณรัฐประชาชนจีนไปยังทวีปแอนตาร์กติกา ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 และจะเดินทางกลับสู่เมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้งในวันที่ 10 เมษายน 2562 รวมระยะเวลาการเดินทางทั้งหมด 5 เดือน