svasdssvasds

กรมทะเลเผย โครงการปลูกป่าชายเลนคาร์บอนเครดิตคืบ พร้อมเปิดรอบใหม่สิงหานี้

กรมทะเลเผย โครงการปลูกป่าชายเลนคาร์บอนเครดิตคืบ พร้อมเปิดรอบใหม่สิงหานี้

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเผย โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต คืบหน้า หลังเริ่มดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี ปลูกป่าในพื้นที่แล้วกว่า 44,000 ไร่ พร้อมขยายต่อโครงการรอบใหม่ สิงหาคมนี้

จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change ที่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตผู้คนทั่วโลก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก และโลกค่อยๆ ร้อนขึ้นเรื่อยๆ

หนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว นอกจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง ก็คือการใช้ธรรมชาติช่วยดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ รวมไปถึงการคิดค้นกลไกคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ หันมาลดก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มอัตราการดูดซับคาร์บอนด้วยการปลูกป่า ขยายพื้นที่สีเขียว

นายอภิชัย เอกวนากุล รักษาการอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยกับสปริงนิวส์ ว่า จากความเร่งด่วนที่โลกจำเป็นจะต้องควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ได้ริเริ่มโครงการปลูกป่าเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต โดยมีสามกรมหลัก ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นแม่งาน

กรมทะเลเผย โครงการปลูกป่าชายเลนคาร์บอนเครดิตคืบ พร้อมเปิดรอบใหม่สิงหานี้

“สำหรับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เราจะเน้นไปที่การปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิตเป็นหลัก โดยทางกรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ป่าชายเลนให้ได้เพิ่ม 300,000 ไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งขณะนี้เรากำลังทยอยปลูกป่าชายเลนแล้ว 44,000 ไร่ และมีภาคเอกชนกว่า 17 บริษัทเข้าร่วมโครงการในปีแรก” นายอภิชัย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ เขายังเผยว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ยังมีชุมชนท้องถิ่นกว่า 58 ชุมชน ใน 9 จังหวัดริมชายฝั่ง ได้เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต สำหรับภาคชุมชน และได้ทยอยปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ 90,000 ไร่แล้ว

“จากความสำเร็จในปีแรกที่มีเอกชนกว่า 17 บริษัท ได้แสดงเจตจำนงค์ที่จะร่วมปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิต ถึงกว่า 500,000 ไร่ ชี้ให้เห็นว่าภาคเอกชนมีศักยภาพและมีความต้องการที่จะมามีส่วนร่วมในโครงการอย่างล้นหลาม โดยทางกรมฯ ในปีนี้ จะขยายต่อโครงการในปีที่สอง และได้รวบรวมพื้นที่สำหรับปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตในปีนี้แล้วกว่า 16,000 ไร่ โดยกรมฯ จะประกาศรับบริษัทและบุคคลภายนอกที่สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิตสำหรับภาคเอกชน ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้” นายอภิชัย กล่าว

เมื่อถามถึงความกังวลจากทางฝั่งนักอนุรักษ์และนักวิชาการต่อรูปแบบการปลูกป่าชายเลนในโครงการ ที่ได้แสดงความกังวลถึงการปลูกป่าโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องทางวิชาการและความเหมาะสมกับระบบนิเวศ นายอภิชัย กล่าวว่า ทางกรมมีบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศป่าชายเลนเข้ามาช่วยให้คำแนะนำและตรวจสอบโครงการทุกขั้นตอน

“ก่อนปลูกป่าชายเลนในโครงการจะมีการตรวจสอบพื้นที่ก่อน ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่สำหรับการปลูกป่าชายเลน โดยในพื้นที่เลนงอก ก็จะเลือกเฉพาะที่หาดเลนที่มีการเซทตัวของดินจนแน่นแล้ว และไม่ไปปลูกในหาดเลนอ่อน อันเป็นอีกระบบนิเวศที่สำคัญของชายฝั่งแน่นอน” นายอภิชัย กล่าว

นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า แปลงปลูกป่าที่สนับสนุนโดยเอกชน จะได้รับการดูแลโดยชุมชนในพื้นที่ ไม่ใช่ปลูกแล้วปล่อยทิ้งอย่างที่มีหลายฝ่ายกังวล จึงสามารถมั่นใจได้ว่าแปลงปลูกป่าชายเลนจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เติบโตและสามารถดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศได้ อย่างที่คาดหวัง

related