svasdssvasds

"ลานีญา" ดันอุตฯเครื่องจักรกลเกษตร โต 3-4 % เกษตรกรเร่งเพาะปลูก-รับมือน้ำ

"ลานีญา" ดันอุตฯเครื่องจักรกลเกษตร โต 3-4 % เกษตรกรเร่งเพาะปลูก-รับมือน้ำ

ปรากฎการณ์ลานีญา ส่งผลดีต่อ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตร ปี2567 โตกระฉูด 3-4 % เนื่องจากเกษตรกรเร่งเพาะปลูก พร้อมรับมือน้ำท่วม น้ำหลาก

SHORT CUT

  • ช่วงนี้ประชาชนกำลังจับตาดูปรากฎการณ์ลานีญา ว่าจะส่งผลกระทบต่อไทย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ธุรกิจ บ้านเรายังไงบ้าง
  • แน่นอนว่าผลกระทบลานีญามีมากมาย และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อยเลยทีเดียว
  • แต่ในทางกลับกัน ลานีญาก็ส่งผลดีให้ธุรกิจเติบโตในช่วงฝนตกชุก  เช่น อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร

ปรากฎการณ์ลานีญา ส่งผลดีต่อ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตร ปี2567 โตกระฉูด 3-4 % เนื่องจากเกษตรกรเร่งเพาะปลูก พร้อมรับมือน้ำท่วม น้ำหลาก

นาทีนี้หลายฝ่ายกำลังจับตาดูปรากฎการณ์ลานีญา ว่าจะส่งผลกระทบต่อไทย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ธุรกิจ บ้านเรายังไงบ้าง แน่นอนว่าลานีญา จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อยเลยทีเดียว แต่…เหรียญมักมี 2 ด้าน ลานีญาก็ส่งผลดีให้ธุรกิจเติบโตในช่วงฝนตกชุก น้ำท่าที่มีปริมาณมากเช่นนี้ 

โดย วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้มีการวิเคราะห์และประเมินว่า ในปี 2567 -2569 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้เฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี เนื่องจากไทยเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ลานีญา ส่งผลให้สภาพอากาศเอื้ออำนวย และปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการขยายพื้นที่เพาะปลูก

 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ยังได้รับปัจจัยบวกอื่นๆ เช่นการสนับสนุนจากภาครัฐในการทำเกษตรสมัยใหม่ท่ามกลางภาวะขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งกฎระเบียบมาตรฐานสินค้าที่ต้องยกระดับกระบวนการผลิตเป็นเกษตรกรรมแนวใหม่ ทำให้ความต้องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

วันนี้ #สปริงนิวส์ จะพามาดูปัจจัยบวกช่วงที่เกิดลานีญา และปัจจัยอื่นๆที่จะส่งผลทำให้อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร มีดังนี้

  • สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก และมีปริมาณน้ำฝนมากขึ้น ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนในเขตชลประทาน จึงเอื้อต่อภาคเกษตร ทั้งภาคการผลิต (พืชและสัตว์) และภาคบริการการเกษตร ซึ่งจะหนุนให้ความต้องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น
  • การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุการขาดแคลนแรงงานระหว่างภาคอุตสาหกรรม ต้นทุนค่าจ้างแรงงานและบริการการเกษตรที่สูงขึ้นเป็นลำดับตามการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตลอดจนค่านิยมของคนนอกภาคเกษตรที่สนใจลงทุนหรือหันมาทำเกษตรมากขึ้นจะนำไปสู่ความต้องการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงานมากขึ้น
  • ปัจจัยสนับสนุนด้านราคาจากความต้องการของตลาดโลก ทั้งพืชเพื่อความมั่นคงทางอาหาร พืชพลังงาน และพืชอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา  ที่คาดว่าพื้นที่เก็บเกี่ยวจะกลับมาขยายตัวหลังภาวะเอลนีโญคลี่คลายลง
  • โครงการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่การทำเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) โครงการ Young Smart Farmer การรณรงค์ลดการเผา (Zero Burn) ในขั้นตอนเก็บเกี่ยวเพื่อลดปัญหาฝุ่น/มลพิษทางอากาศ

ตลอดจนโครงการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI โดยมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรสู่อุตสาหกรรม BCG Economy ตั้งแต่อุตสาหกรรมเกษตรต้นน้ำ การแปรรูป การเกษตรสมัยใหม่ และการสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตร ส่งผลให้เกิดการปรับรูปแบบการทำการเกษตร โดยนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ทำให้มีความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย ขนาดใหญ่ และมีมูลค่าสูงขึ้น

  • การควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรให้มีความเข้มงวดขึ้น โดยมีแนวโน้มที่ประเทศคู่ค้าจะนำกฎระเบียบใหม่นี้มาใช้ในการกีดกันการค้ามากขึ้น ทำให้ภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องยกระดับการบริหารจัดการการผลิต อาทิ การใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ การบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ การใช้เครื่องจักรทดแทนจากผลกระทบของนโยบายกีดกันการใช้แรงงานสัตว์ รวมถึงการบริโภคที่เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดจนสินค้าออร์แกนิค ทำให้ต้องมีการนำเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามปัจจัยหนุนทั้งหมดที่กล่าวมาเบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรตามการใช้จ่ายซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้รับจ้างภาคเกษตรมีการลงทุนซื้อเครื่องจักรเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการใช้บริการที่จะขยายตัวโดยเฉพาะเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อรองรับการบริหารจัดการในภาคเกษตรที่เน้นประสิทธิภาพการผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

\"ลานีญา\" ดันอุตฯเครื่องจักรกลเกษตร โต 3-4 % เกษตรกรเร่งเพาะปลูก-รับมือน้ำ

นอกจากอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร จะมีแนวโน้มเติบโต แต่..ก็ต้องจับตาดูปัจจัยลบต่างๆ ด้วย เพราะแม้ว่าการขยายตัวของมูลค่าตลาดอาจยังไม่สูงนักในปี 2567 จากภาวะกำลังซื้อในภาคเกษตรที่ยังรอการฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงอยู่ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญ อาทิ การแข่งขันด้านราคาจากเครื่องจักรกลการเกษตรต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าโดยเฉพาะการนำเครื่องยนต์มาดัดแปลง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการที่นำเข้าและส่งออก ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาน้ำมัน เหล็ก และพลาสติกในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวสูง

ส่วนตลาดต่างประเทศคาดว่าไทยจะยังคงขาดดุลการค้าเครื่องจักรกลการเกษตร จากการนำเข้าเฉลี่ยที่มูลค่า 44.5-47.0 พันล้านบาทต่อปี เติบโตเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี จากความต้องการใช้รองรับผลผลิตเกษตรที่คาดว่าจะขยายตัวตามภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น การขยายตัวของภาคบริการการเกษตร รวมทั้งการลงทุนในภาคเกษตรสมัยใหม่จากสหกรณ์ สมาคม และหน่วยงานรัฐ

แน่นอนว่าอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มเติบโต ตามการขยายพื้นที่เพาะปลูกจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย กำลังซื้อที่จะทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะยุโรปที่เอื้อต่อความต้องการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ จะหนุนให้มูลค่าตลาดทั้งในและต่างประเทศขยายตัว ส่งผลดีต่อทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายในห่วงโซ่ธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related