SHORT CUT
พลังงานลม หนึ่งในพลังงานสะอาดที่น่าจับตามอง แม้ว่าไทยจะมีผู้เล่นในตลาดไม่กี่ราย พาเปิดทำเลทองลงทุน “พลังงานลม” อีสาน-กาญจนบุรี-ใต้ ลมดีมีคุณภาพ ส่วน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็น่าลงทุน
ว่าด้วยเรื่องพลังงานสะอาดทั่วโลกตอนนี้มีมากมายให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมกับพลังงานนั้นๆด้วยเช่นกัน พลังงานลม เป็นอีกหนึ่งในพลังงานสะอาดที่มีการพูดถึงกันมากในพักหลังๆมานี้ สำหรับในประเทศไทยต้องยอมรับว่ามีผู้เล่นในตลาดนี้มีไม่กี่ราย แต่แนวโน้มทิศทางพลังงานลมกับได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้
นับว่าจากนี้เป็นต้นไปพลังงานลมจะกลายเป็นขุมทรัพย์อันมหาศาลที่นักลงทุนจับตามอง และเปิดเกมลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากพูดถึงพลังงานลมในไทยแล้วจะไม่พูดถึง “วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” ไม่ได้เลย เพราะ…เขาคือเจ้าพ่อพลังงานลมนัมเบอร์วันของเมืองไทย #SPRiNG มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ผู้บริหาร อย่าง “ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH เขาได้ฉายภาพให้เห็นถึงทิศทางของพลังงานลมในไทยว่า 15 ปีจากนี้ไป รวมถึงอนาคต พลังงานในประเทศไทยจะอย่างต่อเนื่อง ได้รับอานิสงส์กันทั้งระบบ ทั้งผู้รับเหมา แรงงาน อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งระบบ รวมถึงรองรับการขยายตัวของการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวกันมากขึ้น รับเทรนด์การค้าโลกที่ภาคธุรกิจไทยต้องใช้ไฟฟ้าสีเขียว
ทั้งนี้เขายังบอกอีกว่า ทำเลทองที่เหมาะสมกับการลงทุนพลังงานลมในไทย คือ ภาคอีสาน เช่น จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ มหาสารคาม บุรีรัมย์ นอกจากนี้ยังมีจังหวัด กาญจนบุรี และภาคใต้ ก็เป็นอีกหนึ่งทำเลที่น่าลงทุนเรื่องพลังงานลม เนื่องจากมีปริมาณลม และความแรงของลมเพียงพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม ในส่วนของต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็น 2 ประเทศที่น่าลงทุนทั้งไทย และต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนพลังงานลมมากขึ้น
ในส่วนของเวียดนามที่ก่อนหน้านี้มีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนพลังงานลมจำนวนมาก ปัจจุบันพบว่ามีนักลงทุนต่างชาติเริ่มหมดสัมปทาน และได้ทยอยกลับหันไปลงทุนประเทศอื่นๆแทน เนื่องจากไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่มีการเปลี่ยนไปมาบ่อยครั้ง จึงทำให้นักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่น แต่เวียดนามยังเป็นประเทศที่มีข้อดี คือ ลมที่เพียงพอ และสม่ำเสมอ
สำหรับข้อดีของพลังงานลม คือ พลังงานลมสามารถอยู่ใกล้กับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายเลย เช่น ทุกโครงการของววินด์ เอนเนอร์ยี่ ใต้กังหันลมมีชาวบ้านทำการเกษตรอยู่ร่วมกันได้ ส่วนข้อเสีย คือ การลงทุนสูงกว่าโซลาร์เซลล์อย่างน้อย 20-30% และการเมนเทนที่ยาก อย่างไรก็ดีเชื่อว่าจากนี้ไปเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยพัฒนาพลังงานไปเรื่อย ๆ ทำให้ต้นทุนถูกลง คืนทุนได้เร็วขึ้น สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมปัจจุบันมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 2บาทกว่าๆ/หน่วย
อย่างไรก็ตามสำหรับ วินด์ เอนเนอร์ยี่ กำลัง “เข้าสู่ยุคแห่งการเติบโต” หลังคว้า 4 โครงการจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาครัฐ ทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 แตะ 1,016 เมกะวัตต์ บรรลุตามเป้าหมาย เผยเตรียมโครงการใหม่รวมกว่า 2,000 เมกะวัตต์ พร้อมเข้ายื่นประมูลทั้งในและต่างประเทศ หลังประเมินโควตาพลังงานลมในประเทศยังมีรออยู่มากกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ผลประกอบการ 2567 สุดแข็งแกร่ง รายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ติดต่อกันเป็นปีที่ 5
ทั้งนี้ WEH ชนะประมูล ได้รับเลือกเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้แก่ภาครัฐ ตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เฟส 1 และ เฟส 2 ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) รวม 4 โครงการใหม่ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 299.1 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบมีระบบกักเก็บพลังงานติดตั้งบนพื้นดิน 1 โครงการ ขนาด 30 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการ โครงการละ 89.7 เมกะวัตต์ รวม 269.1 เมกะวัตต์ ทั้งหมดนี้ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 15,700 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ มีความพร้อมทางด้านเงินลงทุนแล้ว คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ของโครงการทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2570 จนครบทั้งหมดในปี 2573
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วินด์ เอนเนอร์ยี่ ชี้ “พลังงานลม” ในไทยบูม-ลุยลงทุนต่อเนื่อง
ใช้ AI เพื่อช่วยนกจากกังหันผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ผลกระทบต่อนกต้องน้อยที่สุด!
ญี่ปุ่นแก้กฎหมาย เตรียมตั้งฟาร์มผลิตไฟฟ้าพลังงานลมแบบลอยน้ำนอกชายฝั่ง