นักวิทยาศาสตร์พบ มีแหล่งไฮโดรเจนใต้โลกที่อาจจะเพียงพอเป็นพลังงานสีเขียวให้กับทั่วโลกได้นานมากกว่าแสนปี เพียงแค่ต้องค้นหาให้เจอ
แม้แนวคิดการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานสีเขียวจะมีมานานหลายศตวรรษแล้ว แต่ถึงแม้โลกจะยังคงร้อนขึ้นเนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่พบวิธีผลิตไฮโดรเจนทดแทนในราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยตอนนี้มีไฮโดรเจนของโลกเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่นับเป็นพลังงานสีเขียว และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาเร่งด่วน นักวิทยาศาสตร์บางคนจึงพยายามค้นหาพลังงานสีเขียวจากไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
งานวิจัยล่าสุดจากนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยเดอรัม และมหาวิทยาลัยโตรอนโต ได้ระบุสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาที่อาจมีส่วนประกอบของไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซ่อนอยู่ จากการประเมินของพวกเขา เปลือกโลกชั้นทวีปในช่วงหนึ่งพันล้านปีที่ผ่านมาน่าจะผลิตไฮโดรเจนได้เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการพลังงานของสังคมยุคใหม่ของเราได้นานถึง 170,000 ปี
พวกเขาระบุว่า "ระบบไฮโดรเจน" เหล่านี้กำลังฝังอยู่ใต้ทวีปต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงในรัฐต่างๆ อย่างน้อย 30 รัฐของสหรัฐอเมริกา
แน่นอนว่าไฮโดรเจนจำนวนมหาศาลนั้นคงไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ทั้งหมด บางส่วนอาจสูญหายไปหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีต่างๆ แต่อย่างน้อยการรับรู้ถึงการมีอยู่ ก็หมายความว่าเรายังคงมีพลังงานศักย์อยู่อีกหลายพันปีใต้เท้าเรา เหลือเพียงแค่ต้องค้นหามันให้เจอเท่านั้น
ทีมนักวิจัยจึงได้พัตนาสิ่งที่เรียกว่า "สูตรการสำรวจ" เพื่อประเมินว่าไฮโดรเจนตามธรรมชาติจะสะสมอยู่ที่ใดบ้าง และมีบริเวณไหนที่มนุษย์จะมีโอกาสสกัดไฮโดรเจนเหล่านั้นมาใช้ได้ในเชิงพาณิชย์
พวกเขาบอกว่า “องค์ประกอบทางธรณีวิทยา” ที่จำเป็นสำหรับแหล่งสกัดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ หินแหล่งกักเก็บ และโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ป้องกันไม่ให้ไฮโดรเจนหลุดออกสู่ชั้นบรรยากาศ เนื่องจากจุลินทรีย์ใต้ดินสามารถกินไฮโดรเจนได้ง่าย การหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ทำให้จุลินทรีย์สัมผัสกับไฮโดรเจนถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาคุณภาพของไฮโดรเจนในทางเศรษฐกิจ
นักวิจัยยังเชื่อว่า ขอเพียงพวกเขาประสบความสำเร็จในการพัฒนา "สูตรการสำรวจ" เพียงครั้งเดียว ก็จะสามารถทำซ้ำขึ้นมาอีกครั้งได้ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกแหล่งไฮโดรเจนที่ยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งยังอาจมีส่วนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้ในอนาคต