svasdssvasds

Didi เปิดตัวสถานีชาร์จ EV กำลังไฟ 1600 kW ชาร์จ 1 นาที วิ่งได้ 100 กม.

Didi เปิดตัวสถานีชาร์จ EV กำลังไฟ 1600 kW ชาร์จ 1 นาที วิ่งได้ 100 กม.

Orange Charging ในเครือ Didi เขย่าวงการ EV ด้วยแท่นชาร์จ 1600 kW ท้าชนยักษ์ใหญ่ สู่ยุคชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่เร็วเทียบเท่าการเติมน้ำมัน

SHORT CUT

  • Orange Charging ในเครือ Didi เปิดตัวเครื่องชาร์จ 1,600 kW ที่สามารถเพิ่มระยะทาง 100 km ในเวลาเพียง 1 นาที สร้างมาตรฐานใหม่ด้านความเร็วในการชาร์จ EV
  • การเปิดตัวนี้เป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมิ "Megawatt Charging" ที่ดุเดือดในจีน โดยมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง BYD, Huawei และ Zeekr แข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
  • แม้เทคโนโลยีของ Didi จะน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ยังคงมีอุปสรรคสำคัญ ทั้งภาระต่อโครงข่ายไฟฟ้า ต้นทุนการติดตั้งและบำรุงรักษาที่สูง และข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่ในระยะยาว

Orange Charging ในเครือ Didi เขย่าวงการ EV ด้วยแท่นชาร์จ 1600 kW ท้าชนยักษ์ใหญ่ สู่ยุคชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่เร็วเทียบเท่าการเติมน้ำมัน

วงการยานยนต์ไฟฟ้ากำลังลุกเป็นไฟอีกครั้ง เมื่อ Orange Charging บริษัทในเครือ Didi ยักษ์ใหญ่ด้านบริการเรียกรถจากจีน ได้เปิดตัวเทคโนโลยีเครื่องชาร์จกำลังสูงรุ่นใหม่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งอุตสาหกรรม

Didi เปิดตัวสถานีชาร์จ EV กำลังไฟ 1600 kW ชาร์จ 1 นาที วิ่งได้ 100 กม.

ด้วยกำลังไฟสูงสุดถึง "1,600 kW" พร้อมระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว ซึ่งทางบริษัทอ้างว่าสามารถเพิ่มระยะทางวิ่งได้ถึง 100 กิโลเมตร ภายในเวลาเพียง "1 นาที" เท่านั้น

เป้าหมายของเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เพียงแค่ความสะดวกสบาย แต่เป็นการปฏิวัติประสบการณ์การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้รวดเร็วจนไม่ต่างจากการแวะเติมน้ำมันในปั๊มเชื้อเพลิงทั่วไป

เบื้องหลังการทำงานของระบบนี้คือ "Orange Charging Unicorn OS Intelligent system" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์อัจฉริยะที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการจ่ายพลังงานมหาศาลได้อย่างยืดหยุ่น

CREDIT : Orange Charging

ทำให้สถานีชาร์จสามารถจัดสรรกำลังไฟสูงสุดให้กับรถที่รองรับได้ ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถให้บริการรถคันอื่นที่มีความต้องการกำลังไฟน้อยกว่าไปพร้อมๆ กัน

ปัจจุบัน Orange Charging มีเครือข่ายสถานีชาร์จอยู่แล้วกว่า 46,000 แห่ง โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นเครื่องชาร์จที่มีกำลังไฟตั้งแต่ 180 kW ขึ้นไป การเปิดตัวเทคโนโลยี 1,600 kW จึงเป็นก้าวต่อไปที่ตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาด

ปรากฏการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแส "Megawatt Flash Charging" ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วทั้งอุตสาหกรรมในจีน ก่อนหน้านี้ BYD ได้เปิดตัวเครื่องชาร์จกำลังไฟ 1,000 kW

CREDIT : ArenaEV

ส่วน Huawei ก็ได้เผยข้อมูลเครื่องชาร์จ 1.5 MW ที่มุ่งเป้าไปที่ตลาดรถบรรทุกไฟฟ้า ในขณะที่แบรนด์รถยนต์พรีเมียมอย่าง Zeekr ก็ได้เริ่มให้บริการสถานีชาร์จ V4 กำลังไฟ 1.2 MW แล้วเช่นกัน

CREDIT : Zeekr

เทคโนโลยีกำลังสูงนี้มาพร้อมกับความท้าทายครั้งใหญ่ ประเด็นแรกคือภาระอันหนักหน่วงต่อโครงข่ายไฟฟ้าในพื้นที่ เนื่องจากเครื่องชาร์จ 1,600 kW หนึ่งเครื่อง "ใช้พลังงานเทียบเท่ากับชุมชนขนาดเล็ก" การติดตั้งใช้งานในวงกว้างจึงจำเป็นต้องมีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานครั้งใหญ่

ประเด็นถัดมาคือต้นทุนที่สูงลิ่ว ทั้งราคาของตัวเครื่องซึ่งอยู่ที่ประมาณ 80,000 - 120,000 หยวน (361,735 - 542,565 บาท) และยังไม่รวมค่าติดตั้ง การเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้า และค่าบำรุงรักษา โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายของเหลวหล่อเย็นที่มีราคาสูง

และคำถามที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้บริโภคคือ ผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพของ "แบตเตอรี่" ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่แพงที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า

แม้จะมีการพัฒนาระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) และ AI เพื่อลดความเสียหาย แต่ผลลัพธ์ของการอัดประจุด้วยความเร็วสูงเป็นประจำต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่นั้น ยังคงเป็นคำถามที่ต้องรอการพิสูจน์ในระยะยาว

ที่มา : ArenaEV

related