svasdssvasds

พลาสติกไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป ในอีกมุมพลาสติกก็ช่วยโลกได้ถ้าใช้ให้ถูกต้อง

พลาสติกไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป ในอีกมุมพลาสติกก็ช่วยโลกได้ถ้าใช้ให้ถูกต้อง

พลาสติกมักถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาที่ก่อให้เกิดวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมมากมาย กระนั้นพลาสติกสามารถช่วยโลกได้ หากรู้จักเลือกใช้และจัดการอย่างถูกต้อง

เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างว่าปัญหาขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลก จากทั้งการใช้พลาสติกล้นเกินจนก่อขยะพลาสติกมากมาย ปนเปื้อนไปทั่วผืนภพิภพตั้งแต่บนยอดเขาสูงสุด เรื่อยลงไปถึงหุบเหวใต้สมุทรสุดลึก กลายเป็นวิกฤตต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่ต้องพึ่งพาพลาสติกเป็นอย่างมาก พลาสติกอยู่รอบตัวเราทุกที่ ตั้งแต่ขวดน้ำไปจนถึงการปลูกถ่ายทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิต ด้วยตอนนี้ทุกอย่างในชีวิตมนุษย์สมัยใหม่ต้องพึ่งพาพลาสติกในแทบทุกด้าน จึงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึงชีวิตที่ปราศจากพลาสติก

พลาสติกไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป ในอีกมุมพลาสติกก็ช่วยโลกได้ถ้าใช้ให้ถูกต้อง

ดังนั้นเราจึงควรมารู้จักพลาสติกกันให้อย่างถ่องแท้ ว่าวัตถุสิงเคราะห์ชนิดนี้ แท้จริงแล้วเป็นคุณอนันต์ต่อมนุษยชาติ หรือภัยมหันต์ต่อโลก

 

จุดกำเนิดความนิยมต่อพลาสติก

จากบทความของ ดร.Jennie O Loughlin นักวิจัยด้านความยั่งยืนวัสดุสังเคราะห์ประจำมหาวิทยาลัย Dublin City University ประเทศไอร์แลนด์ระบุว่า ในทศวรรษที่ 1860 หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ความต้องการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มแซงหน้าทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และทำให้วัตถุดิบต่างๆ จากธรรมชาติ เช่น งาช้าง ไม้ และกระดองเต่า เริ่มขาดแคลนมากขึ้น สิ่งนี้สร้างความกังวลให้กับบริษัทผู้ผลิต และเป็นตัวเร่งให้มีการคิดค้นวัสดุชนิดใหม่ เพื่อนำไปใช้ผลิตสินค้าอุปโภคทั้งหลาย

หนึ่งในพลาสติกประเภทแรกของโลกคือพลาสติกเซลลูลอยด์ ซึ่งเป็นพลาสติกกึ่งสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นจากเซลลูโลส ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางเคมีธรรมชาติจากพืช พลาสติกกึ่งสังเคราะห์ชนิดนี้ไม่เพียงแต่ราคาถูกกว่าการงาช้างเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายกว่าและสามารถขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่างๆ ได้ง่ายกว่า ในไม่ช้า ทุกอย่างตั้งแต่ของเล่นเด็ก กรอบแว่น ไปจนถึงฟิล์มถ่ายรูป ก็ล้วนผลิตจากเซลลูลอยด์

ตัวอย่างพลาสติกเซลลูลอยด์

  • อย่างไรก็ตาม จากข้อเสียของพลาสติกเซลลูลอยด์ที่สามารถติดไฟได้ง่าย และยังไม่มีความเสถียรนัก Loughlin กล่าวว่า พลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียม เช่น ไนลอนและโพลีเอทิลีน ก็ได้รับการพัฒนามาแทนที่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่อุตสาหกรรมพลาสติกเริ่มมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด

“ในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา สังคมโลกได้พึ่งพาการใช้พลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียมเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่เพื่อความสะดวกเท่านั้น แต่ยังจำเป็นอีกด้วย เนื่องจากพลาสติกสามารถผลิตได้ครั้งละจำนวนมากๆ มีราคาถูก แถมมีความทนทาน และสามารถแปรรูปใช้งานได้อย่างหลากหลาย ทำให้เราพบพลาสติกตั้งแต่ ถุงน่องไนลอนของสุภาพสตรี ไปจนถึงหน้าต่าง Plexiglass บนเครื่องบิน” ดร.Loughlin กล่าว

เธอชี้ว่า การใช้งานทางการแพทย์สมัยใหม่อาจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของความจำเป็นของพลาสติก เพราะพื้นผิวพลาสติกไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของสาร อีกทั้งสะอาด สามารถผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเข้มงวดจนปลอดเชื้อ

เครื่องมือทางการแพทย์ส่วนมากยังจำเป็นที่จะต้องทำมาจากพลาสติก ดังนั้นกระบอกฉีดยา ถุงมือผ่าตัด และแม้แต่พื้นผิวแข็งที่ใช้ตามโรงพยาบาลล้วนผลิตมาจากพลาสติก ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ชุด PPE ที่ทำจากพลาสติกจึงมีบทบาทสำคัญในการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์จากการติดเชื้อ

นอกจากนี้ ความเข้ากันได้ทางชีวภาพของพลาสติกทำให้เหมาะสำหรับการปลูกถ่ายทางการแพทย์ เช่น การเปลี่ยนข้อสะโพกและขดลวดใส่หลอดลม ซึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทำจากพลาสติกเหล่านี้มีราคาต้นทุนที่ถูกกว่าวัสดุที่ทำจากโลหะมาก

 

ผลกระทบจากการใช้พลาสติกล้นเกิน

อย่างไรก็ตาม ดร. Loughlin ชี้ว่า พลาสติกทำให้สังคมก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน แต่ผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและการกำจัดพลาสติกกลับกลายเป็นประเด็นสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าพลาสติกจะมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตยุคใหม่ แต่มีเรากำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่สองประการเกี่ยวกับพลาสติก

  1. พลาสติกจำนวนมากถูกใช้แล้วทิ้งขว้างโดยปราศจากการรีไซเคิล: นับตั้งแต่เริ่มมีการผลิตพลาสติกจำนวนมาก โดยมีการประมาณการว่า เราได้ผลิตพลาสติกออกมาแล้วประมาณ 8.3 พันล้านตัน มากกว่า 90% ของพลาสติกเหล่านี้ไม่ได้ถูกรีไซเคิล พลาสติกที่ไม่ได้รีไซเคิลเหล่านี้ปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อมของเรา ก่อให้เกิดมลพิษในมหาสมุทร และก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ
  2. การผลิตพลาสติกจากกระบวนการปิโตรเคมีสามารถปล่อยมลพิษที่สะสมอยู่ในน้ำมันได้: เช่น โลหะหนัก รายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรปกล่าวว่าการสกัดน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเป็นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก คิดเป็นประมาณ 13 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี เฉพาะในยุโรป

โรงงานปิโตรเคมีเป็นหนึ่งในตัวการปล่อยมลพิษภายในห่วงโซ่การผลิตพลาสติก  ที่มาภาพ: Ahmed Al Baqami

“ปัจจุบันการผลิตพลาสติกคิดเป็น 7% ของการใช้น้ำมันทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ภายในปี 2593 ในอัตราปัจจุบัน การศึกษาของ OECD แสดงให้เห็นว่า 90% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพลาสติกมาจากการผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ในขณะที่อีก 10% ที่เหลือมาจากการปล่อยพลาสติกที่หมดอายุการใช้งาน” เธอระบุ

 

พลาสติกกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดร. Loughlin กล่าวว่า แม้ว่าพลาสติกซึ่งทำมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดูจะเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน แต่หลายงายวิจัยพบว่า การใช้พลาสติกบางชนิดสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น การใช้พลาสติกที่ทนทานและน้ำหนักเบาเป็นวัสดุในชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น พวงมาลัยและบังโคลน ช่วยลดน้ำหนักของรถยนต์ ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงให้ดีมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การศึกษาโดย EPA ในสหรัฐอเมริกาพบว่าในปี 2021 การปล่อย CO2 จากยานพาหนะลดลง 23 % ตั้งแต่ปี 2004

รถยนต์เริ่มหันมาใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบมากขึ้น ทำให้มีน้ำหนักเบาลง ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ที่มาภาพ: Wikimedia Commons

เช่นเดียวกับ ฉนวนพลาสติกในบ้านและธุรกิจทำให้อาคารประหยัดพลังงานมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดต้นทุนด้านพลังงานด้วย

ในขณะที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกของผลิตภัณฑ์อาหารสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการยืดอายุการเก็บรักษาอาหารและลดขยะอาหาร Project Drawdown ซึ่งเป็นองค์กรที่อุทิศตนเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนะนำว่าการลดขยะอาหารมีความสำคัญมากกว่าการรีไซเคิลถึง 15 เท่าในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษยชาติ

ดร. Loughlin ชี้ว่า การเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก การลดการพึ่งพาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและการใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ควบคู่ไปกับการวิจัยพลาสติกชีวภาพทางเลือกทดแทนพลาสติกที่แปรรูปมาจากน้ำมันดิบ จะช่วยให้เรายังสามารถใช้ประโยชน์จากพลาสติก โดยไม่ก่อผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากเกินไป

พลาสติกเป็นวัสดุที่ดีเยี่ยม มันสามารถนำมาใช้ได้หลากหลายรูปแบบ กลายเป็นส่วนสำคัญของสังคมยุคใหม่ที่เราขาดไม่ได้ แต่ด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ เราในฐานะสังคมจะต้องค้นหาแนวทางอื่นสำหรับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและหาทางใช้และจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน” เธอกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข้อมูลจาก: RTE

related