svasdssvasds

พบฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่มี 2 กรงเล็บในทะเลโกบี มองโกเลีย

พบฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่มี 2 กรงเล็บในทะเลโกบี มองโกเลีย

นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยการค้นพบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ 2 กรงเล็บ คาดเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ หายาก ถูกพบในทะเลทรายโกบีของมองโกเลีย

ฟอสซิลที่ขุดพบระหว่างการก่อสร้างท่อส่งน้ำในทะเลทรายโกบีของมองโกเลียเผยให้เห็นไดโนเสาร์สายพันธุ์แปลกประหลาดที่สุดตัวหนึ่ง ซึ่งมีมือสองนิ้วพร้อมกรงเล็บยาวโค้งอันน่าสะพรึงกลัว

การศึกษาของนักวิจัยที่เผยแพร่ลงในวารสาร iScience ระบุว่า ไดโนเสาร์ตัวนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Duonychus tsogtbaatari ซึ่งมีลักษณะเฉพาะภายในกลุ่มไดโนเสาร์ที่เรียกว่าเทอริสิโนซอรัส (Therizinosaurs) ไดโนเสาร์ที่โดยปกติแล้วจะเดินด้วยขาหลังและมีกรงเล็บ 3 กรงเล็บ

เทอริสิโนซอรัส Cr.Reuters

ไดโนเสาร์ชนิดนี้มีขนาดตัวปานกลาง ความยาวประมาณ 10 ฟุต (3 เมตร) และคาดว่ามีน้ำหนักประมาณ 575 ปอนด์ (ราว 260 กิโลกรัม) และมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 90 ถึง 95 ล้านปีก่อนในยุคครีเทเชียส

นักวิจัยเชื่อว่ากรงเล็บที่ยาวและโค้งงอของไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ รวมถึง ความสามารถในการงอกรงเล็บได้อย่างแข็งแรง จะช่วยให้ไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้สามารถจับหรือดึงพืชพรรณชนิดต่าง ๆ มากินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับเทอริสิโนซอรัส (Therizinosaurs) เป็นกลุ่มของไดโนเสาร์เทอโรพอดที่กินพืชหรือกินได้ทั้งพืชและกินเนื้อ อาศัยอยู่ในเอเชียและอเมริกาเหนือในช่วงยุคครีเทเชียส ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 145 ล้านปีก่อนและสิ้นสุดลงเมื่อ 66 ล้านปีก่อน

ไดโนเสาร์กลุ่มนี้มีลักษณะโดดเด่น ด้วยรูปร่างที่ใหญ่โตและกรงเล็บยาว นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง เรื่อง Jurassic World Dominion อีกด้วย ด้านดร.ดาร์ลา เซเลนิตสกี (Dr Darla Zelenitsky) รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคาลการีในแคนาดา หนึ่งในผู้เขียนการศึกษาไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ ระบุว่า ไดโนเสาร์กลุ่มนี้มีรูปร่างที่ดูแปลกตา

ตัวอย่างฟอสซิลของ Duonychus tsogtbaatari ได้รับการค้นพบในชั้นหิน Bayanshiree ในทะเลทรายโกบีของมองโกเลีย ซึ่งมีอายุย้อนกลับไปถึงยุคครีเทเชียสตอนปลาย (ระหว่าง 100.5 ถึง 66 ล้านปีก่อน)

Cr.Reuters

องค์การยูเนสโก (Unesco) ซึ่งเป็นองค์การด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เรียกทะเลทรายโกบีของมองโกเลียว่าเป็นแหล่งฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากภูมิภาคนี้เป็นแหล่งสำคัญของฟอสซิลจากช่วงยุคครีเทเชียสตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของยุคไดโนเสาร์สามยุคหลักในยุคไดโนเสาร์ (ไทรแอสซิก, จูแรสซิก และครีเทเชียส) และเป็นระยะสุดท้ายของวิวัฒนาการของไดโนเสาร์

การศึกษาพบว่ากรงเล็บของ Duonychus tsogtbaatari มีความยาวเกือบ 1 ฟุต (เกือบ 30.48 เซนติเมตร) และมีขนาดใหญ่กว่ากระดูกที่รองรับด้านล่างมาก ทำให้นอกจากจะใช้สำหรับการจับหรือดึงพืชแล้ว มือที่มีสองนิ้วของไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ยังอาจนำมาใช้ในการแสดงออกถึงพฤติกรรมบางอย่าง ใช้ในการขุดหรือเป็นอาวุธทรงพลังในการป้องกันตัวได้อีกด้วย

Cr.Reuters สำหรับไดโนเสาร์เทอโรพอดสองนิ้วที่มีชื่อเสียงที่สุดคือสายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มไทรันโนซอรัส (Tyrannosaurids) ซึ่งรวมถึง ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) แต่ไดโนเสาร์สายพันธุ์ “Duonychus tsogtbaatari” ได้วิวัฒนาการมือสองนิ้วขึ้นมาแยกจากกลุ่มไทรันโนซอรัสและเทอโรพอดสองนิ้วกลุ่มอื่น ๆ

ทั้งนี้ ซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ตัวนี้ยังเป็นซากฟอสซิลแรกที่พบปลอกหุ้มเคราติน (Keratinous sheath) ส่วนที่ห่อหุ้มกรงเล็บเอาไว้ ซึ่งคล้ายกับเล็บของมนุษย์ เพื่อช่วยในการป้องกันตัว การเคลื่อนไหวหรือการจับเหยื่ออีกด้วย

ที่มาข้อมูล

Reuters

BBC

related