หน่วยงานสิ่งแวดล้อมกังวล เมื่อโรงงานเต้าหู้ในอินโดนีเซีย ใช้ขยะพลาสติกจากต่างประเทศมาเป็นเชื้อเพลิงให้กับหม้อต้มซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพผู้บริโภคอย่างร้ายแรง
โรงงานเต้าหู้กว่า 60 แห่งในชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย กำลังใช้ขยะพลาสติกจำนวนมากที่ถูกส่งมาจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และอังกฤษ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตอาหารสำคัญอย่าง 'เต้าหู้'
โดยในแต่ละวันพวกเขาจะทำการจุดไฟตั้งหม้อขนาดใหญ่ ก่อนจะป้อนเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมเป็นขยะพลาสติก ไม้ และเปลือกมะพร้าวเข้าไป เพื่อให้ได้กระบวนการผลิตเต้าหูราว 60 ตัน ที่จะถูกส่งไปจำหน่ายเกือบทั่วประเทศ โดยเฉพาะตลาดหลักคือเมืองสุราบายา เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอินโดนีเซีย
หนึ่งในเจ้าของโรงงานระบุว่า พวกเขาเลือกใช้ขยะพลาสติกเหล่านี้เพราะมันมี "ราคาถูกกว่า" เทียบกับเชื้อเพลิงทั่วไป และแม้ว่าอินโดนีเซียจะมีกฎห้ามเผาขยะในที่โล่ง แต่การบังคับใช้จริงกลับไม่เข้มงวด ทำให้การเผายังคงเป็นวิธีการกำจัดขยะที่นิยมใช้กันทั่วไป
ขยะพลาสติกที่นำเข้ามาหนึ่งรถบรรทุก ในทุกๆ สองวัน มีต้นทุนที่พวกเขาต้องจ่ายเพียง 13 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับไม้จำนวนเท่ากันที่มีราคา 130 ดอลลาร์ โดยรถบรรทุกแต่ละคันสามารถขนขยะพลาสติกมาได้มากถึง 3 ตันต่อเที่ยว และขยะในนั้นก็มีตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ของใช้ประจำวัน ห่อชีสจากฝรั่งเศส ไปจนถึงซองอาหารสุนัขจากนิวซีแลนด์
นอกเหนือจากขยะพลาสติกแล้ว โรงงานหลายแห่งยังเลือกใช้ 'ยางที่ถูกทิ้ง' จากโรงงานผลิตรองเท้าใกล้เคียงด้วย
ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซีย ระบุว่า ชาวอินโดนีเซียบริโภคเต้าหู้เฉลี่ย 8 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่การผลิตเต้าหู้ซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีนชนิดนี้กำลังสร้างความกังวลให้กับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะการเผาพลาสติกนั้นหมายถึงมลพิษที่เกิดขึ้นมีโอกาสสูงที่จะปนเปื้อนเข้าไปในอาหาร โดยเฉพาะไมโครพลาสติกที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเรื้อรังอื่นๆ
การเผาพลาสติกทำให้มีการปล่อยอนุภาคไมโครพลาสติกสู่บรรยากาศ น้ำ และระบบนิเวศโดยรอบของโรงงาน ซึ่งจะสะสมเป็นเวลานานและไม่สามารถกำจัดได้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง ทั้งยังส่งผลเสียต่อคนงานและประชาชนโดยรอบ โดยมีความเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาพัฒนาการในเด็ก ภาวะมีบุตรยากในผู้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดการแท้งบุตร ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน และรบกวนการทำงานของฮอร์โมน
นอกจากนี้ยังทำให้เห็นถึงปัญหาที่ทั่วโลกต้องเร่งหาทางออก คือการที่ประเทศร่ำรวยไม่ยอมหาวิธีจัดการขยะของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ส่งออกขยะไปยังประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสุดท้ายก็ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรวมของทั่วโลกอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม การผลิตเต้าหู้จากโรงงานเหล่านี้ ถูกส่งไปจัดจำหน่ายภายในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น ไม่ได้ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ