นักวิทยาศาสตร์จีนพบแบคทีเรียชนิดใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นบนโลก แต่พบบนสถานีอวกาศเทียนกงของจีน มีความสามารถดำรงชีวิตได้ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก
การเก็บตัวอย่างจากสถานีอวกาศเทียนกงของจีน เผยให้เห็นร่องรอยของแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ไม่เคยพบเห็นบนโลก ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่อาจช่วยให้แบคทีเรียชนิดนี้สามารถดำรงชีวิตได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่กดดัน ซึ่งอยู่สูงจากพื้นผิวของดาวเคราะห์หลายร้อยกิโลเมตร
โดยแบคทีเรียเหล่านี้ถูกพบในสำลีที่ใช้เก็บตัวอย่างจากห้องโดยสารบนสถานีอวกาศ ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566
นักวิจัยจากกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพอวกาศเสินโจวและสถาบันวิศวกรรมระบบยานอวกาศปักกิ่งตั้งชื่อการค้นพบนี้ตามชื่อสถานีว่า นีลเลีย เทียนกงเจเนสิส (Niallia tiangongensis) ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าการศึกษาแบคทีเรียชนิดนี้ รวมถึงชนิดที่คล้ายคลึงกัน จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาระบบป้องกันสุขภาพของนักบินและการทำงานของยานอวกาศในภารกิจระยะยาวได้ดีขึ้น
จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง พวกเขาพบว่าแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่นี้ดูเหมือนจะเป็นญาติใกล้ชิดของแบคทีเรียรูปร่างคล้ายแท่งที่ชื่อว่า นีลเลีย เซอร์คูแลนส์ Niallia circulans ซึ่งอาศัยอยู่ในดิน จึงไม่แน่ใจว่า นีลเลีย เทียนกงเจเนสิส อาจขึ้นมาวิวัฒนาการบนสถานี หรือมาในรูปแบบสปอร์ที่มีลักษณะเด่นบางอย่างอยู่แล้ว
พวกเขายังพบว่าสายพันธุ์ใหม่นี้มีความสามารถเฉพาะตัวในการย่อยเจลาตินซึ่งเป็นแหล่งไนโตรเจนและคาร์บอน ซึ่งเป็นทักษะที่มีประโยชน์เมื่อต้องสร้างชั้นป้องกันของไบโอฟิล์มเพื่อใช้เป็นชั้นบังแดดเมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ในทางกลับกัน ดูเหมือนว่ามันจะสูญเสียความสามารถในนำพลังงานจากสารชนิดอื่นๆไปใช้ ในแบบที่แบคทีเรียชนิดอื่นทำได้
การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า แบคทีเรียบางชนิดสามารถสร้างตัวเองให้เข้ากับแหล่งที่อยู่อาศัยในวงโคจรของโลกได้ง่ายเพียงใด มันยังมีความสามารถที่น่าทึ่งในการเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่ถูกทำให้ 'ปลอดเชื้อ' ซึ่งรวมถึงการต้านทานสารพิษในระดับที่สูงกว่าแบคทีเรียทั่วไป
หลังจากนี้พวกเขายังต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดว่า นีลเลีย เทียนกงเจเนสิส จะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของนักบินอวกาศหรือไม่ เนื่องจากแบคที่เรียชนิดใกล้เคียงกับมันนับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะหากเกิดปัญหาด้านสุขภาพกับนักบินขณะเดินทางทำภารกิจบนอวกาศก็จะกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมาก