svasdssvasds

ข้อตกลง 3 ประการป้องกันการติดเกมของลูก

ข้อตกลง 3 ประการป้องกันการติดเกมของลูก

ความก้าวร้าวรุนแรงจากพฤติกรรมของเด็กจากการติดเกมกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งการแก้ไขที่ดีที่สุดต้องเริ่มกันตั้งแต่สถาบันครอบครัว กรมสุขภาพจิตจึงแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำข้อตกลง 3 ประการกับลูกก่อนให้ลูกเริ่มเล่นเกมเพื่อป้องกันการติดเกมตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น

องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ “โรคติดเกม” (Gaming Disorder) เป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง โรคติดเกมเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมโดยมีลักษณะคล้ายกับการติดสารเสพติดอันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการด้านต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของเด็ก ส่วนใหญ่จะติดจากการเล่นเกมผ่านอินเทอร์เน็ต จัดเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่มีผลกระทบในเชิงลบต่อสุขภาพ ครอบครัว การศึกษา การงานอาชีพ และสังคม

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าอาการสำคัญของโรคติดเกม คือใช้เวลาเล่นนานเกินไป ขาดการควบคุมตนเองในการใช้ชีวิตปกติ เช่น การกิน การนอน รวมถึงทำให้หน้าที่ทั้งการเรียนและการงานเสีย เรื่องติดเกมไม่ใช่เป็นปัญหาของแค่ตัวเด็ก แต่เป็นปัญหาของทั้งครอบครัวที่ต้องร่วมกันจัดการ ซึ่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาสามารถทำได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ง่ายกว่าการแก้ไขในภายหลัง โดยพ่อแม่ผู้ปกครองควรทำข้อตกลง 3 ประการก่อนให้ลูกเริ่มเล่นเกม ดังนี้

เวลา ควรแบ่งเวลาให้ลูกเล่นเกมอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการเล่นเกมวันละ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรให้เล่นเกมในเวลาเรียนหรือเล่นในช่วงเวลากลางคืน

เนื้อหา เกมต้องไม่มีเนื้อหาที่มีความรุนแรง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กไปเสพข้อมูลความรุนแรงเพิ่มเติมจากทางอินเทอร์เน็ต

พฤติกรรม การเล่นเกมต้องไม่นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ยอมไปเรียน โดดเรียน ไม่กินข้าวตามเวลา ไม่ยอมนอน มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงทางกายและวาจา เป็นต้น

หากใครสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดกำลังเข้าข่ายการติดเกมอยู่หรือไม่ ทางกรมสุขภาพจิตมีแบบทดสอบการติดเกม สามารถประเมินตนเองเบื้องต้นเพื่อตัดสินใจก่อนเข้าปรึกษากับจิตแพทย์ได้ แบบทดสอบการติดเกม

หากครอบครัวเริ่มไม่สามารถควบคุมหรือจัดการเองได้ ให้ปรึกษาจิตแพทย์ในสังกัดกรมสุขภาพจิต หรือสามารถปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรืออินบ็อกซ์ผ่านเพจกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุขได้ตลอด 24 ชั่วโมง

รวมรายชื่อโรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข

1 สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพฯ

2 สถาบันราชานุกูล กรุงเทพฯ

3 สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรุงเทพฯ

4 สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรุงเทพฯ

5 โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ สมุทรปราการ

6 โรงพยาบาลศรีธัญญา นนทบุรี

7 โรงพยาบาลสวนปรุง เชียงใหม่

8 สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ เชียงใหม่

9 โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ นครสวรรค์

10 โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี

11 โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ขอนแก่น

12 สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น

13 โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ นครราชสีมา

14 โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จ.สงขลา

15 โรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ เลย

16 โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ สระแก้ว

17 โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ สุราษฎร์ธานี

18 สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้ สุราษฎร์ธานี

19 โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม

20 โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก

21 กรมสุขภาพจิต นนทบุรี