svasdssvasds

"โนโมโฟเบีย" อาการเสพติดมือถือ กระทบต่อสุขภาพ

"โนโมโฟเบีย" อาการเสพติดมือถือ กระทบต่อสุขภาพ

กระทรวงสาธารณสุขเตือน เล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาเสี่ยง "โนโมโฟเบีย" หรือ “อาการติดโทรศัพท์มือถือ" มีผลต่อสุขภาพ พบมากที่สุดช่วงอายุ 18-24 ปี

พฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในยุคที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟน กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร แต่บางกลุ่มมีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา เช่น พกติดตัว ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ รู้สึกกังวลเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัวหรือแบตเตอรี่หมด คอยเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นอาการติดโทรศัพท์มือถือ บางรายอาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว โทรศัพท์เเบตหมด หรือว่าอยู่ในที่ไร้สัญญาณ และมีผลด้านสุขภาพร่างกาย เช่น นิ้วล็อก อาการทางสายตา ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ ส่งผล เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนานๆ อาจมีอาการปวดศีรษะ และโรคอ้วน

"โนโมโฟเบีย" อาการเสพติดมือถือ กระทบต่อสุขภาพ

อาการโนโมโฟเบีย

นอกจากนี้ทางสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึง อาการโนโมโฟเบีย คืออาการที่เกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ พบมากที่สุด กว่าร้อยละ 70 ในกลุ่มเยาวชน 18-24 ปี รองลงมาคือ กลุ่มคนวัยทำงานช่วงอายุ 25 – 34 ปี และกลุ่มวัยใกล้เกษียณ 55 ปีขึ้นไป

ปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นกำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยโรคหลักทางจิตเวช เนื่องจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค พยาธิสภาพทางจิตใจและผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวยังมีไม่มากพอ แนวทางการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนด้วยตนเอง มีหลายวิธี เช่น กำหนดช่วงเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวัน กำหนดสถานการณ์ที่จะไม่เล่นสมาร์ท ควรหากิจกรรม งานอดิเรก เล่นกีฬากิจกรรมผ่อนคลายในครอบครัวทดแทนเวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด