SHORT CUT
หรือนี่อาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่คนรุ่นใหม่ หันไปเลี้ยงสัตว์เป็นลูกมากกว่ามีลูกเป็นคนจริง ๆ สัตว์เลี้ยงบำบัดใจได้จริงไหม? รวมบทบาทหมา-แมวที่ทำมากกว่าน่ารัก
ถ้าใครเป็นพ่อแม่หมาแมว หรือมีบัดดี้เป็นสัตว์ชนิดใดก็ตาม คุณจะรู้ทันทีว่า ทำไมผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงหันไปเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก แทนการมีลูกที่เป็นคนจริง ๆ ซึ่งกระแสนี้ไม่ได้มีแค่ในไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก
การใช้ชีวิตในทุก ๆ วันของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะต้องเจอกับสารพัดแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และความคาดหวังทางสังคมที่แทบจะไม่มีจุดหยุดพัก หลายคนรู้สึกว่า แค่เอาตัวรอดให้ได้ในแต่ละวันก็หนักพอแล้ว การมีภาระเพิ่มขึ้นอย่างการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งไปตลอดชีวิตนั้น อาจเป็นสิ่งที่ยังไม่พร้อม หรืออาจไม่อยากเลือกในตอนนี้
ในทางกลับกัน สัตว์เลี้ยงคือสิ่งมีชีวิตที่มอบความรักให้เราแบบไร้เงื่อนไข ปรับตัวได้กับวิถีชีวิตที่หลากหลาย และโดยทั่วไปแล้ว มีภาระผูกพันในระยะยาวน้อยกว่า รวมถึงต้นทุนการเลี้ยงดูที่น้อยกว่าด้วย แม้ว่าใครจะดูแลสัตว์อย่างดีจนค่าใช้จ่ายอาจจะสูงขึ้นบ้าง แต่ก็ยังถือว่า “เบากว่า” การมีลูกมนุษย์ และที่สำคัญสัตว์เลี้ยงมักสร้างปัญหาทางอารมณ์ให้เราน้อยกว่ามนุษย์ด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้ SPRiNG UP YOUR SOUL จะหยิบยกมาพูดคุยกันในบทความนี้ กับบทบาทของสัตว์เลี้ยง ที่นอกจากจะมอบความรักเต็มร้อยให้กับเจ้าของแล้ว ยังมีอีกบทบาทหนึ่งที่ซ่อนเร้น ซึ่งบางครั้งเราก็มองไม่ออกว่าเขากำลังสวมบทเป็นสัตว์นักบำบัด หรือ จิตแพทย์ส่วนตัวให้เราอยู่ และนี่คือบทบาทของพวกเขาที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน
งานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า หมาและแมวสามารถจับสัญญาณอารมณ์ของมนุษย์ได้ผ่านน้ำเสียง สีหน้า หรือแม้แต่พฤติกรรม เช่น สุนัขมีแนวโน้มเข้าไปซุกหรือจ้องหน้าเจ้าของ เมื่อเจ้าของมีสีหน้าเครียดหรือเสียงเปลี่ยนจากปกติ อีกงานวิจัยถึงขั้นเอาสุนัขเข้าเครื่อง MRI แล้วพบว่า สมองของมันตอบสนองต่อเสียงร้องไห้และเสียงหัวเราะเหมือนกับมนุษย์เลยทีเดียว
แมวเองก็มีสัญชาตญาณลึกซึ้งเช่นกัน แม้จะดูเฉยเมย ไม่รีบเร่งแบบหมา แต่หลายครั้งก็เข้ามานั่งข้าง ๆ อย่างเงียบ ๆ หรือส่งเสียง "เมี้ยว" เบา ๆ เมื่อเรารู้สึกเศร้า เป็นเหมือนเพื่อนที่ไม่พยายามปลอบ แต่แค่อยู่ตรงนั้น ก็พอแล้ว
ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ไม่ได้เกิดแค่ความน่ารัก แต่เกิดการตอบสนองของร่างกายที่แท้จริง งานวิจัยระบุว่า การสัมผัสสัตว์เลี้ยงจะช่วยลดคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) พร้อมเพิ่มสารเคมีดี ๆ อย่างโดปามีน เซโรโทนิน และออกซิโทซิน สารที่ทำให้เรารู้สึกดี มีความสุข
นอกจากนี้งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การมีสัตว์เลี้ยงอยู่เคียงข้างจะทำให้เจ้าของเหงาน้อยลง ยกตัวอย่างในช่วงล็อกดาวน์ ในวันที่ผู้คนออกไปนอกบ้านน้อยมาก ๆ เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อถูกตัดขาดจากสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้สภาพจิตใจห่อเหี่ยว มีงานวิจัยได้เก็บข้อมูลมาแล้วพบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 อัตราการรับเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น คำค้นหาส่วนใหญ่ในกูเกิลเกี่ยวกับการรับเลี้ยงสุนัขและแมว พุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงแรกของการแพร่ระบาด
ช่วงโควิด-19 ที่ผู้คนต้องอยู่แต่ในบ้าน เกิดปรากฏการณ์ “Pet Boom” ทั่วโลก การรับเลี้ยงสัตว์พุ่งขึ้นสูงจากความเหงาและความวิตกกังวล สัตว์เลี้ยงกลายเป็นที่พึ่งทางใจที่จับต้องได้ พูดไม่ได้ แต่เข้าใจเรา
ไม่ใช่แค่การให้ความรัก แต่การมีสัตว์เลี้ยงยังช่วย “จัดระเบียบชีวิต” โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่น หรือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม งานวิจัยหนึ่งระบุว่า เด็กที่ได้ดูแลสัตว์เลี้ยงจะมีความรับผิดชอบและวินัยมากขึ้น เช่น เด็กเบาหวานที่ดูแลปลาทองวันละสองครั้ง มีความสม่ำเสมอในการวัดระดับน้ำตาลในเลือดมากขึ้นชัดเจน
สุนัขเป็นสัตว์ที่มีความสามารถพิเศษในการอ่านอารมณ์มนุษย์ได้ดีกว่าสัตว์อื่น ด้วยความจงรักภักดีและพลังงานบวกที่ไม่มีหมด สุนัขสามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่าง ตั้งแต่ผู้ช่วยคนพิการ ตำรวจ K9 นักดมกลิ่นโรค จนถึงนักบำบัดในโรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา
นอกจากนี้ งานวิจัยหนึ่งในเด็กสมาธิสั้นพบว่า เด็กที่ได้อ่านหนังสือให้สุนัขฟัง มีพัฒนาการด้านพฤติกรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมดีกว่าเด็กที่อ่านให้หุ่นสัตว์ฟัง เพราะสุนัข “ไม่ตัดสิน” และ “ไม่ขัดจังหวะ” ทำให้เด็กมีความมั่นใจในการสื่อสารมากขึ้น
แมวอาจดูเป็นสัตว์ที่อยู่ในโลกของตัวเอง แต่ในวันที่เราอ่อนแอ แมวคือผู้ฟังเงียบ ๆ ที่เต็มไปด้วยพลังเยียวยา เสียงครางของแมวอยู่ในช่วงความถี่ที่สามารถช่วยลดความเครียด ปรับสมดุลความดันโลหิต และแม้แต่ช่วยให้กระดูกสมานตัวเร็วขึ้น
พวกมันไม่เข้ามาปลอบ ไม่พยายามเปลี่ยนความรู้สึกเรา แต่เลือกจะ “อยู่” ข้าง ๆ อย่างไม่ตัดสิน และบางครั้ง นั่นคือทั้งหมดที่เราต้องการ
แม้จะกอดไม่ได้ เดินเล่นไม่ได้ แต่ปลาทองคือสัตว์ที่ช่วยให้จิตใจสงบนิ่ง งานวิจัยพบว่า การดูปลาว่ายน้ำสามารถลดความเครียดและกระตุ้นสมาธิได้ดี โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นหรือผู้ที่ต้องการฝึกวินัยการใช้ชีวิต เช่นในกรณีเด็กเบาหวานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลปลาเป็นประจำ
สัตว์ฟันแทะเล็ก ๆ อย่างหนูตะเภา มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเด็กออทิสติก งานวิจัยหนึ่งพบว่า การให้เด็กเล่นกับหนูตะเภาในห้องเรียนช่วยลดความวิตกกังวล เพิ่มความร่วมมือ และกระตุ้นปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ
สัตว์เลี้ยงไม่เคยขออะไรจากเรา มากไปกว่าการมีเราอยู่ข้าง ๆ แต่สิ่งที่พวกเขาให้กลับมา กลับมีพลังมากกว่าที่เราคิด พวกเขาไม่เพียงแต่เป็น “เพื่อน” แต่เป็น “ผู้รักษา” ที่เยียวยาหัวใจในวันที่โลกภายนอกโหดร้ายเกินจะรับไหว
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวันที่ดีหรือแย่แค่ไหน สัตว์เลี้ยงจะไม่หนีไปไหน ไม่ตั้งคำถาม ไม่ตัดสินใจแทนคุณ แต่จะอยู่ตรงนั้นเสมอ และนั่นอาจเป็นบทบาทนักบำบัดที่ดีที่สุด ที่มนุษย์บางคนยังให้กันไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
ที่มาข้อมูล