svasdssvasds

"เวิลด์แบงก์" ปรับแนวโน้มจีดีพีไทย พุ่ง 3.5% เตือน! ค่าเงินแข็งต่อจากทุนนอกไหลเข้า

"เวิลด์แบงก์" ปรับแนวโน้มจีดีพีไทย พุ่ง 3.5%  เตือน! ค่าเงินแข็งต่อจากทุนนอกไหลเข้า

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ธนาคารโลก ปรับแนวโน้มจีดีพี ไทยปีนี้ มาอยู่ที่ 3.5% ได้แรงหนุนจากส่งออก และท่องเที่ยว เตือนค่าเงินแข็งต่อจากทุนนอกไหลเข้า

วันที่ 5 ต.ค.60--ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับปรับปรุงเดือนตุลาคม โดยปรับแนวโน้มการเติบโตของจีดีพี ประเทศไทย ขึ้นมา 0.3% มาอยู่ที่ 3.5% จากการคาดการณ์แนวโน้มเดิมเมื่อเดือนเมษายนซึ่งอยู่ที่ 3.2% และในปีหน้า จะเติบโตขึ้นมาที่ 3.6% ก่อนที่จะขยับลงมาอยู่ที่ 3.5% ในปี 2562

"เวิลด์แบงก์" ปรับแนวโน้มจีดีพีไทย พุ่ง 3.5%  เตือน! ค่าเงินแข็งต่อจากทุนนอกไหลเข้า

ธนาคารโลกให้น้ำหนักว่าว่า เศรษฐกิจไทยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้า เช่นเดียวกับการท่องเที่ยว ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศยังไม่กระเตื้องขึ้น ทั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุนจากภาคเอกชนยังคงอยู่ในระดับกลางๆเท่านั้น โดยการลงทุนจากภาคเอกชนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีการขยายตัวในระดับกลางๆที่ 3.2% จากเดิมในช่วงไตรมาสแรกของปี ซึ่งหดตัวไป 1.1%

ธนาคารโลกยังมองว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ยังคงเป็นผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกระแสการกีดกันทางการค้าโลก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย ขณะที่ความเสี่ยงในประเทศ ธนาคารโลกมองว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงมีอยู่ถ้าหากการปฏิรูปทางการเมืองไม่อาจจะสร้างความพอใจให้กับสังคมในหลายภาคส่วนได้นั่นเอง

ทางด้าน นาย อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ให้ความเห็นกับสปริงนิวส์ว่า การปรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยของเวิลด์แบงก์ และอีกหลายสำนักทั้งใน และต่างประเทศก่อนหน้านี้ เป็นแนวโน้มที่ทุกค่ายปรับเหมือนกันหมด โดยเฉลี่ยขยับขึ้นมาอยู่ในกรอบ 3.5-3.8 %

โดย ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับแนวโน้มขึ้นมามากที่สุด ส่วนกระทรวงการคลังเตรียมประกาศคาดการณ์ใหม่ในเดือนนี้ เช่นเดียวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ กำลังทบทวนตัวเลขอยู่เช่นกัน โดยเหตุผลหลักที่เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีเกินคาด

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆในอาเซียนนั้น ปรากฏว่า มาเลเซีย ปรับขึ้นมาถึง 0.9% มาอยู่ที่ 5.2% ถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับการปรับขึ้นมากที่สุดของอาเซียน โดยให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจมาเลเซียจะมีการเติบโตที่รวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นฟื้นตัว และมีการลงทุนที่สูง ตลอดจนได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการค้าโลกด้วย

ทางด้าน นาย สุธีร์ เชตตี้ หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ของเวิลด์แบงก์ ให้ความเห็นว่า บรรดาประเทศในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ยังจะต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน มากขึ้นต่อไป เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นนั้นจะทำให้ทุนจากต่างประเทศไหลเข้าภูมิภาคนี้ และจะทำให้ค่าเงินในหลายประเทศแข็งค่าต่อไป

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทไทย ถือว่าแข็งค่ามากที่สุดในกลุ่มเอเชีย โดยนับตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าขึ้นไปแล้ว 6.94%

related