svasdssvasds

ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์VoIP อ้างเป็นเจ้าหน้าแบงค์ชาติ ปปง. หลอกเหยื่อ กว่า 8,000 ราย

ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์VoIP อ้างเป็นเจ้าหน้าแบงค์ชาติ ปปง. หลอกเหยื่อ กว่า 8,000 ราย

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ในห้วงตั้งแต่พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ได้มีประชาชนร้องเรียนกับศูนย์ข้อมูล บริษัทไปรษณีย์ไทยว่า มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์ติดต่อเข้ามา แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัทไปรษณีย์ไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองกำกับการสืบสวนตำรวจภาค 1 - ภาค 9 สำนักงานป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณ 8,000 ราย คาดว่า น่าจะมีผู้หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อร่วม 100 ราย วงเงินกว่า 200 ล้านบาท

พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พันตำรวจโท วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ และ พันตำรวจโท ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ สืบสวนเครือข่าย ขบวนการ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

 

ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์VoIP อ้างเป็นเจ้าหน้าแบงค์ชาติ ปปง. หลอกเหยื่อ กว่า 8,000 ราย

 

ทางการสืบสวน พบว่า เครือข่ายดังกล่าว ตั้งฐานการดำเนินงานคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงอยู่ที่ต่างประเทศ โดยคนต่างชาติร่วมมือกับคนไทย นำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในการโทรศัพท์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ VoIP (Voice Over Internet Protocol) เพื่อให้เกิดความซับซ้อน ยากแก่การติดตาม มีการแสดงหมายเลขโทรศัพท์ ในขณะรับสายเป็นเบอร์โทรของหน่วยงานรัฐ เช่น ดีเอสไอ บริษัทไปรษณีย์ไทย หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จากนั้น จะมีการพูดจาโน้มน้าว กดดัน จนเหยื่อหลงเชื่อ โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเครือข่าย หรือ บัญชีรับจ้างที่เรียกว่า “บัญชีม้า” ในเวลาเดียวกันนั้น ก็จะมีชาวต่างชาติ

ที่แฝงตัวมาในฐานะนักท่องเที่ยว ทำการกดเงินออกโดยทันที ที่ผ่านมา จับกุมผู้กระทำผิดได้แต่เป็นเพียงผู้เปิดบัญชีรับจ้าง ผู้ถอนเงิน และผู้ช่วยเหลือสนับสนุนรายเล็ก ๆ ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ

การสืบสวนของดีเอสไอมุ่งเน้นการทำลายองค์กรเพื่อตัดวงจรการกระทำผิด โดยตรวจสอบพบว่า มีการโทรผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยระบบ VoIP ผ่านผู้ให้บริการของบริษัท พี เอ็ม เอ็น จำกัด

ซึ่งตั้งอยู่ อาคารทศพลแลนด์ 4 เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และในขณะเดียวกันทีมสืบสวนได้เฝ้าติดตามดูพฤติกรรมกลุ่มคนไทยผู้ต้องสงสัย ซึ่งมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับคนไต้หวัน และมีข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง จนมีฐานะร่ำรวยผิดสังเกต โดยพบเบาะแสว่า จะเดินทางไปยังไต้หวัน ช่วงระหว่างวันที่ 20 - 25 กันยายน 2560 ทีมสืบสวนจึงได้ประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ MJIB ไต้หวัน (The Ministry of Justice Investigation Bureau) เฝ้าติดตามพฤติกรรมและหาพยานหลักฐานอย่างต่อเนื่อง จนพบพยานหลักฐานสำคัญเป็นบทพูดภาษาไทยที่ใช้ ในการหลอกลวงเหยื่อ และคนไทยกลุ่มนี้อยู่ในความคุ้มครองดูแลของคนไต้หวันที่มีประวัติต้องโทษเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงและลักทรัพย์

ดีเอสไอ จึงได้ประสานงานความร่วมมือกับ MJIB ส่งข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อเข้าตรวจค้น เป้าหมายพร้อมกัน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 เวลา 11.00 น. โดยพันตำรวจโท ธวัชชัย ศรีวรกุล ผู้อำนวยการส่วนคดีเทคโนโลยี 2 ได้นำกำลังร่วมกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เข้าตรวจค้น บริษัท พี เอ็ม เอ็น จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ อาคารทศพลแลนด์ 4 เขตบางนา กรุงเทพมหานคร เพื่อเก็บพยานหลักฐาน ในติดต่อสื่อสาร VoIP ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต พบข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ ของเครือข่ายผู้กระทำผิด มีการเชื่อมโยงจากเครือข่ายจดทะเบียนทั้งใน ฮ่องกง อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

 

ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์VoIP อ้างเป็นเจ้าหน้าแบงค์ชาติ ปปง. หลอกเหยื่อ กว่า 8,000 ราย

 

ในขณะเดียวกัน MJIB ได้เข้าทำการตรวจค้นที่ทำการของกลุ่มเป้าหมาย ณ เมืองไทจง (Taichung) และเมืองเหมี่ยวลี่ (Miaoli) พบพยานหลักฐานเป็นเอกสารบทพูดที่ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ การสื่อสาร ที่แสดงได้ว่าร่วมกันกระทำผิดในลักษณะของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตรวจค้นและจับกุมคนไทย จำนวน 18 คน และคนไต้หวัน จำนวน 7 คน ซึ่งคนไทยที่ถูกจับกุม 2 คน คือ นางธัญวรรณ วงษ์ภักดี และนายณัฐสิทธิ์ สามตะคุ เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีคอลเซ็นเตอร์ ที่เป็นความร่วมมือของทีมสืบสวน กองคดีเทคโนโลยีและสารเทศ และพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน จากผู้เสียหาย มีการชักชวนคนไทยไปทำงานรับโทรศัพท์ ที่ไต้หวัน โดยได้รับค่าตอบแทนมากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มอบหมายให้กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศเฝ้าติดตามพฤติการณ์หลอกลวงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งย้ำเตือนพี่น้องประชาชน

1. อย่าหลงเชื่อโทรศัพท์ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ที่พูดจาโน้มน้าวให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง และย้ำเตือนว่า หน่วยงานธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสถาบันการเงิน ไม่มีการสั่งทางโทรศัพท์ ให้โอนเงินเพื่อปิดบัญชี หากมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ให้สอบถามได้ที่ Call Center กรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร. 1202

2. อย่าเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู้กระทำผิด เพื่อหวังค่าจ้างเพียงเล็กน้อย โดยไปเปิดบัญชีเงินฝาก พร้อมมอบบัตรเอทีเอ็มให้กับคนอื่นใช้บัญชี เพราะเขาอาจใช้เป็นบัญชีรับโอนเงินจากการกระทำผิด ซึ่งเจ้าของบัญชีจะต้องถูกดำเนินคดีว่ามีส่วนร่วมกระทำผิด

3. อย่าไปร่วมมือกับชาวต่างชาติไปทำการหลอกลวง แม้จะมีการเดินทางไปต่างประเทศและ มีรายได้ แต่ผู้เดือดร้อนที่ตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเงินที่เก็บไว้ใช้ยามบั้นปลายของชีวิต

 

related