svasdssvasds

สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายลูกการตรวจเงินแผ่นดิน

สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายลูกการตรวจเงินแผ่นดิน

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

ร่างกฎหมายลูกการตรวจเงินแผ่นดิน ฉบับที่ สนช.ให้ความเห็นชอบวานนี้ ได้ยกเลิกรายได้ของ สตง.ห้ามเก็บค่าตรวจสอบบัญชีจากหน่วยงานรับตรวจอีก เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้เพิ่มอำนาจใหม่ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไต่สวนเบื้องต้น หากพบเจ้าที่ ป.ป.ช.ทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนบทเฉพาะกาลกำหนดห้ามอดีตผู้ว่าฯ สตง.เป็นผู้ว่าฯ สตง.ซ้ำอีก

เมื่อวันที่ 19 ต.ค.60 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน โดยใช้เวลาพิจารณานานกว่า 9 ชั่วโมง ก่อนลงมติ

โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้แก้ไขปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. โดยการแบ่งขอบข่ายอำนาจระหว่างกันอย่างชัดเจน เช่น ถ้าเป็นเรื่องการทุจริตจากการใช้งบประมาณผิดระเบียบจะให้ สตง.ไต่สวนเบื้องต้นก่อนส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป พร้อมกำหนดให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินอยู่ภายใต้การกำกับของผู้ว่าฯ สตง.แต่ต้องทำหน้างานธุรการให้ กับ คตง.ด้วย

สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายลูกการตรวจเงินแผ่นดิน

นอกจากนี้ได้เพิ่มอำนาจ ในกรณีที่ผู้ว่าการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายให้ผู้ว่าการแจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบ และ ให้ผู้ว่าการ สตง.มีอำนาจไต่สวนเบื้องต้น ตามหลักเกณฑ์ที่ ป.ป.ช.กำหนดด้วย แต่ต้องการไต่สวนต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. หากกระทบ สามารถแจ้งให้ผู้ว่าการ สตง.ยุติการการไต่สวนเบื้องต้น เพื่อส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเองได้

ซึ่งหลังจากนี้ สตง.จะไม่สามารถเรียกเก็บค่าตรวจสอบบัญชีจากหน่วยงานรับตรวจได้อีก จะเหลือเพียงรายได้ที่มีอยู่เดิม ประมาณ 700 กว่าล้านบาท และรายได้ที่เหลือจ่ายในแต่ละปีงบประมาณ และดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินฝากหรือทรัพย์สินเท่านั้น ที่จะต้องถูกโอนเข้าสู่กองทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายกรณีงบประมาณฯประจำปีไม่พอ

สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายลูกการตรวจเงินแผ่นดิน

ส่วนบทเฉพาะกาล มาตรา 107 กำหนดให้ คตง. และชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ ทั้งนี้ มาตรา 108 วรรคท้าย กำหนดว่าผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯสตง. ก่อนวันที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ ให้ถือว่าเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. มาก่อน ไม่สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯ สตง.ได้อีก เป็นเหตุให้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าฯสตง. รวมถึงอดีตผู้ว่าฯสตง.ทุกคน ไม่สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯสตง.รอบใหม่ ที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่ในขณะนี้ได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติ

ขั้นตอนหลังจากนี้ สนช.จะส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ไปให้ กรธ.และ สตง.พิจารณาส่งความเห็นกลับมาภายใน 10 วัน หากมีความเห็นแย้งก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง กรอบเวลาพิจารณา 15 วัน แต่หากไม่มีข้อท้วงติงก็ส่งนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

 

 

related