svasdssvasds

พบข้อมูลน้องเมยเพิ่ม อ้างชันสูตรแบบพยาธิมีตัดอวัยวะ คาดสื่อสารญาติคลาดเคลื่อน

พบข้อมูลน้องเมยเพิ่ม อ้างชันสูตรแบบพยาธิมีตัดอวัยวะ คาดสื่อสารญาติคลาดเคลื่อน

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

วันที่ 21 พ.ย.60 จากกรณีที่ครอบครัวของ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา หลังกลับเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้เพียง 1 วัน และทางครอบครัวได้รับเพียงใบมรณะบัตร จากโรงเรียนเตรียมทหาร ระบุสาเหตุว่า เกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แต่ทางครอบครัว ตัดสินใจนำศพน้องเมย ส่งผ่าพิสูจน์รอบ 2 ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และได้รับผลการพิสูจน์ทราบว่า  พบรอยช้ำที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากอะไร ซี่โครงซี่ที่ 4 ด้านขวา ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ทำ CPR หัวใจหัก รวมถึงพบรอยช้ำที่มุมขวาด้านหน้า เช่นเดียวกับบริเวณแผ่นหลัง นอกจากนี้ยังพบว่าสมอง, หัวใจ ,กระเพาะอาหาร และ กระเพาะปัสสาวะ หายไปจากร่างของน้องเมยนั้น

ล่าสุดทีมข่าวสปริงนิวส์ ได้ทำการสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติเวช ให้ความเห็นต่อประเด็นการชันสูตรศพใน 2 กรณี โดยอ้างว่า

ข้อแรก มีความเป็นไปได้ว่าแพทย์ผู้ทำการชันสูตรมีความถนัดทางวิธีชันสูตรแบบพยาธิวิทยา คือ จะนำเอาอวัยวะออกมาทั้งชิ้นไปแช่ดองในถังฟอร์มาลีน เพื่อทำการตรวจต่อในภายหลัง เพราะรอยโรคบางอย่างอาจชัดเจนหลังแช่ฟอร์มาลีน ซึ่งวิธีนี้เป็นไปตามมาตรฐานการชันสูตรของพยาธิวิทยา

ข้อสอง หากแพทย์ผู้ชันสูตรเลือกใช้วิธีชันสูตรแบบนิติเวชศาสตร์ แล้วพิสูจน์พบว่า อวัยวะหายไปนั้น อาจเกิดจากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน จึงเกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน เนื่องจาก ในกระบวนการผ่าชันสูตรศพแบบนิติเวชศาสตร์โดยปกตินั้น จะไม่มีการนำอวัยวะออกไปทั้งชิ้น เพียงแต่จะสไลด์อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งออกมาเพียง 2-3 ชิ้น ชิ้นละ 1-3 ซม. เพื่อดำเนินการส่องตรวจกับกล้องจุลทรรศน์ โดยแผ่นสไลด์ดังกล่าวจะเก็บไว้ประมาณ 10 ปี ตามอายุความ ก่อนจะทำการทำลาย และจะคืนอวัยวะทั้งหมดให้แก่ร่างผู้ตาย โดยบรรจุในช่องท้องพร้อมทำการเย็บปิด เนื่องจากอวัยวะของผู้ที่ตายไปแล้วนั้นหากเสียชีวิตมานานแล้วจะไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ใดได้เลย

ส่วนกรณีที่ทางครอบครัว กล่าวอ้างว่าพบรอยช้ำที่มุมขวาด้านหน้า เช่นเดียวกับบริเวณแผ่นหลัง ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช กล่าวว่า รอยฟกช้ำที่แผ่นหลัง ซึ่งอาจเป็นจ้ำเลือดหลังตาย รวมถึง รอยฟกช้ำทั่วไป นั้น ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ

1. หากเกิดทางด้านหลังของร่างกาย จะต้องแยกจากภาวะของจ้ำเลือดหลังตาย กับบาดแผลฟกช้ำ โดยจ้ำเลือดหลังตายนั้นเกิดขึ้นได้หลังการตายทุกราย เนื่องจากเป็นกลไกการเปลี่ยนแปลงหลังการตายตามปกติ ซึ่งการแยกประเภทระหว่างจ้ำเลือดหลังตาย และ รอยฟกช้ำนั้นจะต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการประเมิน

2. รอยฟกช้ำหากเกิดในตำแหน่งอื่นของร่างกายก็จะถูกประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยจะพิจารณาถึงขนาด รูปร่าง ตำแหน่งที่เกิด และความรุนแรง เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ จะต้องถามความเห็นจากแพทย์ผู้ชันสูตรทั้ง 2 ที่

อย่างไรก็ตาม หากทางครอบครัวต้องการข้อมูลอย่างครบถ้วน ก็แนะนำว่าควรติดต่อเข้าพบพูดคุยกับแพทย์ผู้ชันสูตร ร่วมกับพนักงานสอบสวน เพื่อความโปร่งใสและความเข้าใจที่ตรงกัน

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า จากการกล่าวอ้างอวัยวะที่หายไป เป็นเพราะแพทย์นำไปชันสูตรนั้น แสดงว่าทางโรงเรียนเตรียมทหาร ยอมรับว่ามีการนำอวัยวะออกไปจริง โดยไม่แจ้งกับครอบครัว ขณะที่ทางครอบครัวอยู่ระหว่างตามเอกสารจากร้อยเวรเจ้าของคดีและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อเร่งทำเอกสารขอคืนอวัยวะจากสถาบันฯที่ทำการชันสูตรในครั้งแรกเพื่อเป็นการยืนยันว่ามีการสูญหายจริง

 

 

related