svasdssvasds

สุนัข"โบตั๋น"ถูกฟันยับทั่วตัวขาหัก2ข้าง เย็บร้อยเข็ม

สุนัข"โบตั๋น"ถูกฟันยับทั่วตัวขาหัก2ข้าง เย็บร้อยเข็ม

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

เรื่องราวสุดสะเทือนใจของน้องหมาบูลลี่ ชื่อ“โบตั๋น”ถูกฟันทั่วตัว และขาหักสองข้าง ภายหลังถูกนำส่งโรงพยาบาลสัตว์ต้นยางสัตวแพทย์ และช่วยชีวิตด้วยการเย็บแผลไปกว่าร้อยเข็ม ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า โบตั๋น วิ่งหนีตายออกมาจากบ้านที่เกิดเหตุ ในขณะที่ลำตัวเต็มไปด้วยแผลถูกฟันหลายแห่ง ล้มลงจมกองเลือดอยู่หน้าร้านเชียงใหม่ยางยนต์ ถนนเชียงใหม่-ลำพูน อ.สารภี เชียงใหม่ ขณะนั้น พยานได้ยินเพียงเสียงร้องตะโกนห้ามของภรรยาผู้ที่คาดว่าน่าจะเป็นคนทำร้ายโบตั๋น

สุนัข"โบตั๋น"ถูกฟันยับทั่วตัวขาหัก2ข้าง เย็บร้อยเข็ม

เรื่องราวของ"โบตั๋น"ไปถึงโรงพักแล้ว โดยเพื่อนบ้านได้ไปแจ้งความกับ พ.ต.อ.ไพรัช คุ้มล้วนล้อม ผกก.สภ.สารภี เชียงใหม่ เพื่อเอาผิดให้ถึงที่สุด ในข้อหาทารุณกรรมสัตว์และทำให้เสียทรัพย์อาญา แต่ทางผู้ก่อเหตุ บอกกับชาวบ้านในละแวกว่า เป็นเพียงเหตุการณ์หมากัดกัน และเจ้าโบตั๋นถูกกระเบื้องบาด ทั้งนี้ ทีมข่าวได้ติดต่อ พ.ต.อ.ไพรัช คุ้มล้วนล้อม ผกก.สภ.สารภี เชียงใหม่ และ พ.ต.ท.อิทธิรัชต์ แสนปัญญา รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.สารภี เชียงใหม่ เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของคดี กำลังติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าให้ปากคำ

สุนัข"โบตั๋น"ถูกฟันยับทั่วตัวขาหัก2ข้าง เย็บร้อยเข็ม

ในขณะที่ คุณฎายิน เพชรรัตน์ ตัวแทนและผู้ก่อตั้ง กลุ่ม SOS ANIMALS Thailand กล่าวถึงกรณีของสุนัขโบตั๋นที่ถูกทำร้ายอย่างทารุณว่า ทางกลุ่ม WATCHDOG THAILAND กำลังเร่งดำเนินการฟ้องร้อง เพื่อดำเนินคดีอาญาตามพรบ.ทารุณกรรมสัตว์ อยู่ที่สภ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยคดีดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าของสุนัขเป็นผู้ร้องทุกข์ เนื่องจากเป็นความผิดทางอาญา เป็นคดีแผ่นดิน เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเป็นโจทก์แทนได้ พร้อมให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ภายหลังพรบ.ทารุณกรรมสัตว์มีผลบังคับใช้ แต่ สถิติที่ทางกลุ่มช่วยเหลือสุนัขกลุ่มต่างๆ พบ ตัวเลขการทำร้ายสัตว์เพิ่มขึ้น เหตุผลหนึ่งเป็นเผยแพร่เหตุการณ์ผ่านสื่อได้รวดเร็วขึ้น ผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่น่าเสียใจว่า หลายกรณีไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุดได้ เพราะขาดพยาน เนื่องจากผู้เห็นเหตุการณ์เกรงกลัวอันตราย ไม่กล้ามาเป็นพยาน เนื่องจากคนที่ทำร้ายสัตว์อย่างทารุณได้ มักมีพฤติกรรมก้าวร้าว ผิดมนุษย์มนา และมีแนวโน้มที่จะทำร้ายร่างกายพยานได้เช่นกัน ดังนั้น ตนขอแนะนำไปถึงผู้ที่พบเห็นเรื่องราวการทำร้ายสัตว์ว่า หากพบสุนัขจร สามารถเข้าช่วยส่งโรงพยาบาลสัตว์ หรือติดต่อมูลนิธิที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือได้ทันที แต่หากเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ การทำร้ายเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนบุคคล ในเบื้องต้นขอให้เข้าไปพูดคุยกับผู้กระทำ อย่าเพิ่งแสดงความเป็นปรปัก แต่ให้สอบถามถึงเหตุผลในการทำร้าย อาจเกิดจากความเข้าใจผิด ความกดดันที่ได้รับสุนัขส่งต่อมาแต่ไม่สามารถดูแลได้ หรือ สุนัขดุมาก ซนมาก ไม่รู้วิธีการจัดการที่ถูกต้อง หากเป็นสาเหตุเหล่านี้ ผู้พบเห็นควรแสดงความเป็นมิตร และเข้าให้ความแนะนำช่วยเหลือแนะนำ แต่หากเป็นการทำร้ายแบบไร้เหตุผล ควรติดต่อกรมปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ทางกฎหมาย ช่วยดูแลเป็นกรณีกรณีไป

สุนัข"โบตั๋น"ถูกฟันยับทั่วตัวขาหัก2ข้าง เย็บร้อยเข็ม

ขณะที่ คุณชัยโรจน์ ศรีโรจนฤทธิ์ ทนายความ และผู้รักสุนัข แสดงทัศนะว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครอง มิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ ซึ่งการนำสัตว์มาเลี้ยง จะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง แยกออกเป็นกรณีต่างๆ ดังนี้ 1.เจ้าของหมาเป็นคนแจ้งความร้องทุกข์  2.ถ้าเจ้าของไม่แจ้ง อาจมีบุคคลอื่นเป็นผู้แจ้งแทนได้  3.เมื่อแจ้งความร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนก็จะออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบปากคำ ซึ่งหากไม่มาตามหมายเรียกสองครั้งก็จะออกหมายจับต่อไป 4.เมื่อสอบสวนแล้วทราบว่าผู้ใดกระทำความผิด ก็จะแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป อย่างไรก็ตาม คุณชัยโรจน์ บอกว่า โดยทั่วไปแล้วคดีเกี่ยวกับสุนัขในประเทศไทยเท่าที่พบ ผู้ต้องหาหรือจำเลยส่วนมากจะรับสารภาพ เพราะโทษไม่สูง อีกทั้งศาลมองว่าควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวกลับใจ อีกทั้งสังคมโซเชียลจะช่วยติดตามหาข้อเท็จจริงหรือการตามตัวผู้กระทำผิด หรือพยานหลักฐานต่างๆด้วยอีกทาง

อีกหนึ่งทัศนะที่น่าสนใจต่อกฎหมายการทารุณกรรมสัตว์ คุณชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า หากเป็นกรณีการทำร้ายสัตว์เพื่อเป็นการป้องกันตัว อย่างกรณี หมาขย้ำเด็ก จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ถึง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ 2547 ว่า อาจทำให้ไม่มีใคร กล้าเข้าไปช่วยเหลือเด็ก เนื่องจากกลัวจะมีความผิดตามกฎหมาย บางคนถึงกับด่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ว่า เห็นสัตว์มีความสำคัญมากกว่าคน และเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าในกรณีที่สุนัขจะกัดคนให้สามารถทำร้ายสุนัข เพื่อป้องกันไม่ให้กัดผู้นั้นได้ ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติ มาตรา 21 ระบุข้อยกเว้นไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรม “การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์ หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน” สามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งผู้ใดก็ตามจะมีความผิดฐานกระทำ “ทารุณกรรมสัตว์” ต้องเป็นกรณีที่กระทำไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร ถ้ามีเหตุอันสมควรก็ไม่มีความผิด ส่วนผู้ที่อยู่รู้เห็นเหตุการณ์สามารถช่วยเหลือเด็กไม่ให้ถูกสุนัขกัด โดยการทำร้ายหรือฆ่าสุนัขตัวนั้น เพื่อป้องกันอันตราย โดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 21 เมื่อเด็กได้รับบาดเจ็บถูกกัด เจ้าของต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 สรุปได้ว่า ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่เคยอ่านกฎหมายฉบับนี้ นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับสังคมไทย”

สุนัข"โบตั๋น"ถูกฟันยับทั่วตัวขาหัก2ข้าง เย็บร้อยเข็ม

กรณีของ"โบตั๋น"สุนัขบาดเจ็บปางตาย สะท้อนถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ได้อีกหลายมิติ  แม้ให้สิทธิ์ที่จะร้องทุกข์ แต่ก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์พอจะยับยั้งการห้ำหั่นอีกหนึ่งชีวิต ที่เจ็บได้ ร้องไห้เป็น เพียงแต่พวกเขาไม่สามารถพูดได้เท่านั้นเอง

ขอบคุณภาพจากเพจ WATCHDOG THAILAND

ขอบคุณเพจ ปอยหลวงเชียงใหม่

related