svasdssvasds

ครม.ชง3แนวทางแก้ราคายางตกต่ำ - จ่ายชดเชยลดทำนาปรัง

ครม.ชง3แนวทางแก้ราคายางตกต่ำ - จ่ายชดเชยลดทำนาปรัง

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

คณะรัฐมนตรีอนุมัติสามแนวทางแก้ไขปัญหาราคายาง แต่ต้องเสนอให้คณะกรรมการยางแห่งประเทศไทยและ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแห่งชาติพิจารณาก่อน พร้อมเห็นชอบมาตรการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังกว่า 9 แสนไร่พยุงราคาข้าว

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงมาตรการในการช่วยเหลือและดูแลผลผลิตยางพาราและและข้าวว่า ทางกระทรวงได้มีการเสนอสามแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางและลดปริมาณยางได้แก่1)การให้กระทรวงต่างๆไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงกระทรวงมหาดไทยกลับไปตรวจสอบความต้องใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นอีกเท่าใด

จากปัจจุบันที่มีตัวเลขการใช้เพียงแต่ 7-8หมื่นตัน แต่ตัวเลขที่แท้จริงจากการรายงานของฝ่ายบริหารแต่ละกระทรวงพบว่ารวมกันถึง 2 แสนไร่ 2)โครงการให้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการซื้อยางแห้งมาแปรรูปวงเงินสินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท โดนรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 คิดเป็นวงเงินชดเชย 600 ล้านบาท คาดว่าจะดูดซับยางแห้งประมาณ 3.5 แสนตัน และมีเป้าหมายดึงราคายางให้ได้ที่ 64 บาทต่อกิโลกรัม และ3)มาตรการลดการกรีดยางและลดพื้นที่การปลูกยางใน 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือพื้นที่ราชการจำนวน 1แสน 2 หมื่นไร่ แต่ขณะนี้ได้เปิดกรีดไปแล้ว 7-8 หมื่นไร่ ดังนั้นไร่ยางพาราในส่วนที่เหลือหากลดการกรีดได้ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคมปี 2561 จะทำให้ปริมาณยางพาราในระบบลดลงได้ถึง 5 พันตัน ส่วนที่สองคือการลดพื้นที่การปลูกของประชาชน ซึ่งจะมีการสนับสนุนงบในการซิ้อปัจจัยการผลิตรายละไม่เกิน 10 ไร่ และให้ไร่ละไม่เกิน 400 บาท และหาตลาดผลิผลิตให้เพื่อเป็นแรงจูงใจ ซึ่งคาดว่าจะลดพื้นที่ปลูกได้ 2 แสนไร่และใช้วงเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท และมีระยะเวลาดำเนินการรับซื้อจากเกษตรกรตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2560- 30 เมษายน 2561 แต่มาตรการทั้งหมดนี้จะต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทยและ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแห่งชาติก่อนและจะนำมาเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบอีกครั้ง แต่ในวันนี้เป็นการรายงานเบื้องต้นให้รับทราบ

นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบมาตรการโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกพืชให้เหมาะสม ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรปี2560/2561 เพราะจากการสำรวจพบว่าเกษตรกรที่จะปลูกข้าวนาปรังมีมากกว่าที่คาดไว้ถึง 13.6 ล้านไร่จากเดิม 11.65 ล้านไร่ ดังนั้นเพื่อให้อุปสงค์และอุปทานของข้าวมีความสมดุลและส่งผลดีต่อราคา จึงได้เพิ่มเติมเงื่อนไขมาตรการเดิมมาแก้ไข ซึ่งคาดว่าจะลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังได้อีก 9 แสนไร่จากมาตรการเดิมที่เคยทำไว้ 1.05 ล้านไร่ ได้แก่โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายจำนวน 3 แสนไร่วงเงิน 647 ล้านบาทโดยจะชดเชยให้ไร่ละไม่เกิน 2,000 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด 2 แสนไร่วงเงิน 240 ล้านบาท โดยจะชดเชยให้ไร่ละไม่เกิน 1,000 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่และ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์จำนวน 4แสนไร่วงเงิน 860 ล้านบาท โดยจะชดเชยให้ไร่ละไม่เกิน 2,000 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ และทุกมาตรการจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2560 ถึงเดือนมิถุนายนปี 2561

 

related