svasdssvasds

ย้อน 4 ปีเสรีภาพทางวิชาการไทย

ย้อน 4 ปีเสรีภาพทางวิชาการไทย

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

มองย้อน 4 ปี !!! เสรีภาพทางวิชาการ “ขย่ม” ศรัทธา “รัฐบาล – คสช.”??   4 ปีแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดูแลประเทศ ถึงวันนี้ พลังความชอบธรรม และกองหนุนเริ่มถดถอย อย่างพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีพูดไว้เมื่อปลายปี 2560   สาเหตุหนึ่งก็จาก “เสรีภาพทางวิชาการ” ที่กลุ่มปัญญาชนตั้งคำถามกับรัฐบาลมากที่สุด  เพราะถูกอำนาจกดทับจนไม่สามารถแสดงออกต่อสาธารณะได้   กรณี ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ยื่นหนังสือลาออกจากเก้าอี้ ผู้อำนวยการนิด้าโพล ด้วยเหตุผล “ทำงานภายใต้สภาวการณ์แบบนี้ไม่ได้” แม้ว่า รัฐบาล หรือ คสช. ไม่ได้เป็นผู้สั่งการ แค่คนในรั้วนิด้า สั่งระงับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน   งัดเหตุผลออกมาโต้แย้ง....ให้ประชาชนเข้าใจถึงความเป็นมาและบรรยากาศที่เกิดขึ้นยามนี้? แต่หากย้อนเวลากลับไปดู เสรีภาพทางวิชาการ ของเหล่าคณาจารย์ ในสถาบันการศึกษาต่างๆ แล้วปรากฎการณ์ความไม่พึงพอใจเกิดขึ้น นับตั้งแต่.....   ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระคนแรกๆ ที่ถูกตำรวจ-ทหารรวบตัวคางานเสวนาที่จัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 18 ก.ย. 2557 ด้วยเหตุผล "อาจส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาของชาติ และเพื่อการป้องกันมิให้เกิดความแตกแยก" ถูกควบคุมตัวไปสอบสวนที่สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ทำให้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพในการเรียนรู้ถูกระงับได้กระทั่งในชั้นเรียน ศ.นิธิ พูดเรื่องนี้ว่า สถานการณ์ไม่อนุญาตให้นักวิชาการมีกระทั่งความซื่อสัตย์ต่อตนเอง เสรีภาพทางวิชาการถดถอย มีหลายเรื่องที่พูดไม่ได้โดยอิสระ หลายกิจกรรมนักวิชาการตั้งใจจะจัด แต่ไม่ได้รับอนุญาตทางทฤษฎี "เสรีภาพทางวิชาการ" กับ "เสรีภาพทางการเมือง" สามารถแยกออกจากกันได้ แต่ไม่ใช่กับประเทศไทย "เมื่อการยึดอำนาจโดย คสช. ไม่ชอบธรรม จึงต้องใช้ความกลัวกดเอาไว้" นี่คือความแตกต่างจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี 2534 ที่ยังปล่อยให้นักวิชาการพูดได้-เขียนหนังสือได้   18 ก.ค. 2560 เหล่านักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่เชียงใหม่ จำนวนหนึ่ง นำโดย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ, ภัควดี วีระภาสพงษ์, นลธวัช มะชัย, ชัยพงษ์ สำเนียง  และธีรมล บัวงามถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ข้อมูล จาก ilaw) หลังจากพวกเขาเดินทางมาชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ที่เชียงใหม่ ตามด้วยอาจารย์ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ถูกทหาร ส่งเทียบเชิญให้ไปพูดคุย 5 ครั้ง ถูกขอร้องแกมบังคับให้ยกเลิกเวทีเสวนาวิชาการ อาจารย์บอกว่าเป็นเพราะทหารมองคณะรัฐศาสตร์อยู่ในสถานะ "ต้องเฝ้าระวังเพราะอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง" ทั้งการตีความกฎหมายยังแตกต่างกัน จากเจตนาที่ต้องการสอนนักศึกษาให้รู้จักเคารพสิทธิมนุษยชน จึงถูกฝ่ายความมั่นคงเบี่ยงเบนไปเป็นการยุยงปลุกปั่น ขัดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ส่วน ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ เดินขึ้นศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2557 คดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. สะท้านใจบรรดาลูกศิษย์ยิ่งนัก แต่อีกทัศนะจาก ศ.อุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้ทำหน้าที่โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยคุยกับบีบีซีไทย ยอมรับสภาพถูกจำกัดเสรีภาพทางวิชาการบางประการ เมื่อต้องเขียนรัฐธรรมนูญภายใต้กรอบ คสช. โดยจัดตัวเองอยู่ในกลุ่มที่มี "สิทธิพูด" มากกว่านักวิชาการคนอื่นๆ "ในทางวิชาการ ถ้าคุณค้น คิด ไม่มีใครไปจำกัดคุณได้เพราะมันอยู่ในหัวคุณ แต่เมื่อไรที่คุณสื่อสารออกมาด้วยคำพูด การเขียน ถึงตอนนั้นคุณต้องใช้เสรีภาพโดยรู้ว่าความเหมาะควรคือแค่ไหน และต้องรับผลที่จะตามมา.. การที่เราไปอยู่ในสังคมหนึ่ง ไม่ใช่เราโง่หรือฉลาด เราเคารพตัวเองหรือไม่เคารพตัวเอง แต่เราไปทำอะไร และประเมินผลลัพธ์ที่ออกมาอย่างไร" ศ.อุดมกล่าว พร้อมยืนยันไม่มีเสรีภาพใดที่ใช้ได้โดยไร้ขอบเขต ล้วนเป็นความเห็นของคนที่ถูกกระทบ “เสรีภาพ” ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า เป็นสิทธิด้านวิชาการ แต่ที่เป็นวงเสวนาจริงจัง แบบโต๊ะกลมที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งกลุ่มถก สะท้อนกันมีคนร่วมราว 50 คน คือหัวข้อ “สังคมไทย ยุค 4.0 กับเสรีภาพทางวิชาการ” เมื่อเดือน ก.ย. 2560 สรุปได้ว่า....   “หลังรัฐประหารไทยตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งเสรีภาพทางวิชาการถูกปิดกั้น นักวิชาการถูกจับกุมดำเนินคดีจำนวนมาก เมื่อให้มองเรื่องไทยแลนด์ 4.0 กับสถานการณ์ปัจจุบัน ดูขัดแย้งกันไปหมด ทั้งที่เสรีภาพทางวิชาการ เป็นเหมือนกระจกสะท้อนของสังคมและความยุติธรรมที่รวดเร็วผิดปกติ  ก็คือความไม่ยุติธรรม” มุมของอาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน   ส่วน“เสรีภาพวิชาการทางวิทยาศาสตร์ เปรียบเปรยว่าเหมือนปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ ก็คล้ายกับเสรีภาพวิชาการ ในอดีตใครที่เชื่อต่างก็ถูกโจมตี อย่าง กาลิเลโอ อริสโตเติล โคเปอร์นิคัส คนเหล่านี้เห็นต่างกับความเชื่อยุคนั้น จึงถูกปิดกั้นเสรีภาพ นั่นย่อมกระทบต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา”  เสียงของอาจารย์ชัชวาล บุญปัน อดีตอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   “สถานการณ์ของไทยอยู่ในระดับที่เลวร้ายเพราะทั่วโลกเห็นตรงกันว่า การปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ เป็นปัญหาสำคัญ คนชนชั้นนำในสถานศึกษา มักไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความกลัว อีกส่วนอาจเพราะมุมมองเสรีภาพที่แตกต่างกัน”  คือสิ่งที่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สะท้อนออกมา   อาจารย์เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ถูกปิดกั้นอย่างมาก ดูจากการดำเนินคดีกับกลุ่มต่างๆ บางคนถึงขั้นถูกจำคุก ในฐานะอาจารย์ ตนนำนโยบายของ คสช.มาแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนกับนักศึกษา  แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง กลับไม่สามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะได้เลย   เสียงกระซิบของเหล่าปัญญาชน ยุค 4.0 กำลังจะกลายเป็นเสียงตะโกนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ คณาจารย์บางคนฝากถึงท่านผู้นำว่า ทำได้ดีมาแต่แรก....อย่าต้องให้ตกม้าตายด้วยสาเหตุนี้เลย     เครดิตภาพ : Northpublicnew สื่อสาธารณะเพื่อพัฒนาสังคม
related