svasdssvasds

ผ่านฉลุย! ร่างกม.ลูก "ส.ส.-ส.ว." ลุ้น! มียื่นศาล รธน.ตีความหรือไม่

ผ่านฉลุย! ร่างกม.ลูก "ส.ส.-ส.ว." ลุ้น! มียื่นศาล รธน.ตีความหรือไม่

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบร่างกฎหมายลูก ส.ส.และ ส.ว.แล้ว และยังไม่มีสมาชิก สนช.เข้าชื่อส่งร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีเนื้อหาบางส่วนขัดรัฐธรรมนูญ

วันนี้ ( 8 มี.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ด้วยมติเอกฉันท์ 211 เสียง และเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา หรือ ส.ว. ด้วยมีมติ 202 เสียง ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 13 เตรียมส่งนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าต่อไป

ผ่านฉลุย! ร่างกม.ลูก "ส.ส.-ส.ว." ลุ้น! มียื่นศาล รธน.ตีความหรือไม่

โดยร่างกฎหมายลูก ส.ส.กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ได้ แก้ไขหลายประเด็น อาทิ ห้ามจัดแสดงมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง  แก้ไขเวลาเลือกตั้งเป็น 08.00-17.00 นาฬิกา  แก้ไขการคำนวณค่าใช้จ่ายหาเสียง ให้กกต.คำนวณจากการส่งผู้สมัครของแต่ละพรรค

แต่ในการอภิปรายสมาชิกส่วนหนึ่ง ทักท้วงมาตรา 35 เรื่องการตัดผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและรองผู้บริหารท้องถิ่น โดยนาย กล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. มองว่า การเขียนแบบนี้ จะทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และจะเกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันหรือไม่ และอาจขัดรัฐธรรม มาตรา 40 ที่ว่าด้วยบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพเท่าเทียมกัน

ด้านนายสมชาย แสวงการ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ให้เหตุผลการคงไว้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง และผู้บริหารท้องถิ่นบางตำแหน่ง ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงสมควรกำหนดไว้เช่นนี้

ขณะที่ ร่างกฎหมายลูก ส.ว. ปรับแก้ไข 2 ส่วน คือ บทหลัก แก้ไขกลับคืนร่างเดิม ของ กรธ. โดยให้ ส.ว.มาจากกลุ่มสังคม 20 กลุ่ม สมัครอิสระเท่านั้น และวิธีการเลือกให้ใช้วิธีการเลือกไขว้ประกอบกับการเลือกกันเองในกลุ่ม

ส่วนบทเฉพาะกาล ให้ ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก มาจากกลุ่มสังคม 10 กลุ่ม แบ่งผู้สมัครแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท คือ อิสระและเสนอชื่อโดยองค์กร และวิธีการเลือกให้ใช้วิธีการเลือกในกลุ่มวิธีเดียว

แต่ในการอภิปราย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. แสดงถึงความไม่มั่นใจ ว่า การแบ่งผู้สมัคร 2 ประเภท จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และคิดว่า สมาชิกส่วนหนึ่งก็ยังติดใจเช่นกัน จึงเปิดโอกาสให้สมาชิกซักถาม ซึ่งนายมนุชญ์ วัฒนโกเมร สมาชิก สนช. ก็เห็นว่า จะสุ่มเสี่ยง

ทำให้ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ต้องชี้แจงยืนยันว่า การกำหนดบทเฉพาะกาล ให้แตกต่างไปจากบทหลักของร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. นั้น สามารถเขียนให้แตกต่างได้  ดังนั้น การที่กรรมาธิการร่วมฯ แบ่งบทหลักและบทเฉพาะกาลเป็น 2 ส่วน จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มี สมาชิก สนช.คนใด ยืนยัน ว่าจะมีการเข้าชื่อ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นดังกล่าว ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ เสนอหรือไม่

ทั้งนี้หากจะยื่นต้องเข้าชื่อกัน ให้ได้ 25 คน (ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ 248 คน ) เพื่อส่งเรื่องให้ประธาน สนช.พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญต่อไป และจะเข้าชื่อกันยื่นศาลได้จนกว่า นายกรัฐมนตรีจะนำร่างขึ้นทูลเกล้า

 

 

 

related