svasdssvasds

กระตุ้นการลงทุน!"ญี่ปุ่น" เบนเข็มรุกแม่สอด เร่งรถไฟ "เชื่อมบ้านไผ่-นครพนม" โยงระเบียงเศรษฐกิจ

กระตุ้นการลงทุน!"ญี่ปุ่น" เบนเข็มรุกแม่สอด เร่งรถไฟ "เชื่อมบ้านไผ่-นครพนม" โยงระเบียงเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นเบนเข็มลุยรถไฟแนว E-W Corridorเชื่อมเมียนมา กับลาวและเวียดนาม เผยแนวตะวันตก-ตะวันออกจากแม่สอดเชื่อมกับแนวเส้นทางใหม่ช่วงบ้านไผ่-นครพนมได้ที่ จ.ขอนแก่น ร.ฟ.ท.เทงบลงทุนกว่า 6.7 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากการประชุมร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(Japan International Cooperation Agency : JICA) ที่กระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 พบว่ามีแนวโน้มที่ฝ่ายญี่ปุ่นจะเบนเข็มหันไปมุ่งศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟตามแนวตะวันออก-ตะวันตก(E-W Coorridor) เส้นทางที่เชื่อมต่อจากเมียนมา ผ่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปยังสถานีบ้านไผ่ มุกดาหาร จากนั้นเชื่อมไปยังจังหวัดนครพนมซึ่งจะเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเวียดนาม หลังจากที่ช่วงก่อนนี้ทุ่มสรรพกำลังไปศึกษารถไฟจากกาญจนบุรี-สระแก้วมาแล้วแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้จากการปรับเปลี่ยนแนวทางดำเนินการจึงมองไปได้ว่าเหตุที่ฝ่ายญี่ปุ่นเปลี่ยนไปเคาะความชัดเจนในเส้นทางแม่สอดเนื่องจากเล็งเห็นว่าสามารถรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดที่สามารถเชื่อมไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ในเมืองย่างกุ้ง ของเมียนมาซึ่งสามารถขนส่งสินค้าออกสู่ท่าเรือดานังในเวียดนามไปสู่ญี่ปุ่นได้ ปัจจุบันเขตเศรษฐกิจติลาวาพบว่ามีความคืบหน้าด้านการพัฒนาและการลงทุนมากกว่าท่าเรือนํ้าลึกทวาย

“ไจก้า ให้ความสนใจอย่างมากจึงเร่งศึกษาความเป็นไปได้เนื่องจากจะสามารถเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาในเมียนมาที่เปิดดำเนินการแล้ว ต่างจากท่าเรือนํ้าลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายยังไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ฝั่งไทย มีความคืบหน้าตามลำดับ ประกอบกับสามารถเชื่อมกับรถไฟเส้นบ้านไผ่-นครพนม ที่รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอครม.ในปลายปีนี้จึงน่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมมากกว่า”

กระตุ้นการลงทุน!"ญี่ปุ่น" เบนเข็มรุกแม่สอด เร่งรถไฟ "เชื่อมบ้านไผ่-นครพนม" โยงระเบียงเศรษฐกิจ

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการร.ฟ.ท. กล่าวว่า เส้นทาง E-W Corridor แนวแม่สอด-นครพนม เป็นนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจแม่สอด อีกทั้งแนวแม่สอด-นครพนมนั้น ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank) หรือ ADB สนใจพัฒนามาหลายปีแล้ว หากในประเทศไทยสามารถเชื่อมกับชายแดนไทย-เมียนมา และไทย-สปป.ลาวไปจนถึงเวียดนามได้ก็จะได้รับความสะดวกมากขึ้นเนื่องจากเวียดนามไปถึงญี่ปุ่นได้ระยะทางเรือไม่ไกลมากนัก

“เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงินลงทุนกว่า 6.7 หมื่นล้านบาทรัฐบาลไทยเร่งผลักดัน และยังมีการศึกษาช่วงแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ที่จะเชื่อมไปยังขอนแก่นได้อีกด้วย เส้นทางนี้จึงมีความเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งหากกระตุ้นการค้าชายแดนเมียนมาและสปป.ลาวได้ก็จะเกิดผลดีกับประเทศไทย โดยเฉพาะนครพนมและหนองคายปัจจุบันคึกคักอย่างมาก ต่างกับมุกดาหารที่ยังเงียบเหงา ดังนั้นเอดีบีและไจก้าจึงเน้นลงทุนเส้นทางเชื่อมนครพนมเพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาที่ญี่ปุ่นไปลงทุนนั่นเอง”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ด้านความคืบหน้าประมูลรถไฟทางคู่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงินลงทุนกว่า 8.5 หมื่นล้านบาทนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างรอหนังสือตอบยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ก่อนที่กระทรวงคมนาคมจะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้เปิดประมูลซึ่งคาดว่าครม.จะอนุมัติภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นร.ฟ.ท.จะเปิดประมูลในเดือนสิงหาคม-กันยายนเพื่อหาตัวผู้รับเหมาไปดำเนินการก่อสร้างในช่วงปลายปีนี้เพื่อให้เริ่มงานก่อสร้างในปี 2562 เป็นต้นไป

“เส้นทางนี้สามารถเชื่อมกับเส้นทาง E-W Corridor ที่ญี่ปุ่นสนใจได้ ที่พิษณุโลก ดังนั้นเส้นทางสายใหม่ 2 เส้นคือ เด่นชัย-เชียงของ และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนมร.ฟ.ท.จะเน้นให้สามารถเปิดประมูลได้ภายในปีนี้เพื่อเริ่มงานก่อสร้างในปี 2561 อีกทั้งในเร็วๆ นี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมผู้บริหารร.ฟ.ท.และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) จะนำคณะสื่อมวลชนไปเปิดหวูดโหมโรงโครงการดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและโซนภาคเหนือได้ติดตามความคืบหน้านอกเหนือจากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่ตามแนวเส้นทาง”

.....................

ขอบคุณ...เซกชั่นเศรษฐกิจมหภาค หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3365 ระหว่างวันที่13-16 พ.ค.2561|

related