svasdssvasds

คณะกรรมการอาหารฯ กำหนดยุทธศาสตร์จัดการด้านอาหารฉบับใหม่

คณะกรรมการอาหารฯ กำหนดยุทธศาสตร์จัดการด้านอาหารฉบับใหม่

คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เห็นชอบตัวชี้วัดและเป้าหมายรองรับกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2560 - 2579)เชื่อมโยงทุกมิติที่ในห่วงโซ่อาหาร

คณะกรรมการอาหารฯ กำหนดยุทธศาสตร์จัดการด้านอาหารฉบับใหม่

วันนี้ (12 กรกฎาคม 2561) ที่ประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการได้จัดทำกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2579) มุ่งสู่วิสัยทัศน์ที่ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วยยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงอาหาร คุณภาพและความปลอดภัยอาหาร อาหารศึกษาและด้านการบริหารจัดการ ทั้งนี้ มุ่งหมายเพื่อเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ใช้เป็นกรอบการวางแผนปฏิบัติงานอย่างบูรณาการ มุ่งผลสัมฤทธิ์และเป้าหมายร่วมกันเพื่อ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

กรอบยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 ได้กำหนดเป้าหมายรวมไว้ 6 ด้าน เพื่อสะท้อนผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานในอีก 20 ปีข้างหน้า และยังมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาติ หรือ SDGs ด้วย ได้แก่

1) จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง

2) ปริมาณการสูญเสียและขยะอาหารลดลง

3) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น

4) มูลค่าการค้าอาหารเพิ่มขึ้น

5) จำนวนคนที่มีภาวะโภชนาการขาดและเกินลดลง

6) มีหน่วยงานกลางประสานการดำเนินการ

โดยการประชุมในวันนี้ คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบตัวชี้วัดของเป้าหมายทั้ง 6 ด้านดังกล่าว และจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับการดำเนินงานให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาในห่วงโซ่อาหารอย่างต่อเนื่อง

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมในวันนี้ ยังได้พิจารณาผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของหน่วยงานต่าง ๆ ตามกรอบยุทธศาสตร์ฉบับที่ 1 ซึ่งมีหลายโครงการที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง เช่น ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร มีโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ซึ่งตั้งเป้าหมายในปี 2561 ให้โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งจำนวน 891 แห่ง จัดซื้อผักผลไม้ปลอดภัยจากเกษตรกรในพื้นที่เพื่อประกอบอาหาร เพื่อความปลอดภัยของประชาชนจากสารเคมีตกค้างและส่งเสริมเกษตรให้ผลิตผักและผลไม้ที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีผลการดำเนินงานมาตรการจัดการความเสี่ยงของไขมันทรานส์ในอาหาร ซึ่งเป็นไขมันที่มีอันตรายต่อสุขภาพ โดย อย. ได้ออกกฎหมายกำหนดห้ามใช้น้ำมันประกอบอาหารที่อาจมีไขมันทรานส์เจือปน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ประมาณต้นปี 2562 ถือว่าเป็นมาตรการเชิงรุกที่มีความก้าวหน้าเท่าทันประเทศที่พัฒนาแล้ว และมากกว่าเวทีระดับนานาชาติขององค์การอนามัยโลก ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการควบคุมความปลอดภัยไขมันทรานส์แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน นับเป็นผลงานตามนโยบายความปลอดภัยอาหารภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารที่ที่มุ่งหมายให้อาหารที่ผลิตและบริโภคในประเทศมีคุณภาพและปลอดภัยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

related