svasdssvasds

เสี่ยง! ผู้ป่วยตับ-ไต-หัวใจกินใบอังกาบหนูระวังอันตราย

เสี่ยง! ผู้ป่วยตับ-ไต-หัวใจกินใบอังกาบหนูระวังอันตราย

เภสัชกร มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอังกาบหนูว่าผู้มีโรคประจำตัว ตับ ไต หัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

ภญ.ผศ.ดร.มยุรี  ตั้งเกียรติกำจาย จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ กล่าวว่า อังกาบหนู เป็นสมุนไพรที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายในอินเดีย ศรีลังกา แอฟริกาใต้ และเริ่มเป็นที่สนใจในประเทศไทย จากงานวิจัยในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองพบว่ามีฤทธิ์ทางยา 3 ด้านหลัก คือ 1.สารสำคัญ iridoids fraction ซึ่งสกัดจากส่วนของใบและ ลำต้น ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่าช่วยฆ่าเซลล์มะเร็ง 2.เมื่อให้หนูกินสารสกัดจากรากอังกาบหนูเป็นเวลา 60 วัน พบว่าลดการสร้างอสุจิและทำให้อสุจิเคลื่อนไหวได้ลดลง มีผลทำให้มีบุตรยาก ต้องระวังการใช้ในชายวัยเจริญพันธุ์ สำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดมีข้อควรระวังคือไม่สามารถคุมกำเนิดได้ 100% และ 3.สารสกัดจากส่วนของใบ ลำต้นและรากมีงานวิจัยในหลอดทดลองพบว่า สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบได้ เช่น ข้ออักเสบ ควรใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดเท่านั้น ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือใช้ในขนาดสูง เพราะอาจทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน และแผลในทางเดินอาหาร

เสี่ยง! ผู้ป่วยตับ-ไต-หัวใจกินใบอังกาบหนูระวังอันตราย

จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะที่ 3 และผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตามสมุนไพรนี้ยังไม่มีการศึกษาในคน จึงยังไม่ทราบขนาดการใช้ที่แน่นอน และฤทธิ์ทางยาที่กล่าวถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อใช้ในคน เช่นอาจมีฤทธิ์ลดลง หรือมีฤทธิ์ไม่มากพอที่จะใช้ในการรักษาโรค

เสี่ยง! ผู้ป่วยตับ-ไต-หัวใจกินใบอังกาบหนูระวังอันตราย

ก่อนตัดสินใจใช้สมุนไพรเพื่อประโยชน์ใด ควรศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือก่อนตัดสินใจใช้ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคไตเรื้อรัง โรคตับ หรือโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์หรือ เภสัชกรก่อนตัดสินใจใช้

related