svasdssvasds

“ความในใจ” ของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ใน “บันทึกไว้กันลืม”

“ความในใจ” ของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ใน “บันทึกไว้กันลืม”

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 21 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ให้แล้วเสร็จใน 180 วัน ถึงวันนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถูกร่างเสร็จเรียบร้อย รัฐบาลและคสช.วางไทม์ไลน์ จะให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

กรธ.ทั้งหมด เห็นตรงกันว่า เพื่อเป็นการบันทึกเรื่องราว ความทรงจำ ประสบการณ์ต่างๆ ในการทำหน้าที่ กรธ.แต่ละคนไว้ใน "ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560" ฟังนายมีชัย ฤชุพันธ์ ในฐานะประธานร่างฯ เล่าว่า

** เหตุผลทำไมต้องเป็น “กรธ.”

“มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ” คือเหตุผลที่พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กับนายมีชัย  ที่ได้บันทึกไว้ว่า “ผมถามท่านว่า มีความจำเป็นขนาดไหนที่ผมจะต้องไปทำ” เป็นคำถามเมื่อครั้งนายกฯเชิญไปพบเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558 เพื่อขอให้ไปนั่งเป็นประธาน กรธ. นั่นคือคำตอบ

“เมื่อท่านตอบเช่นนี้ ผมก็หมดทางเลี่ยง เพราะเมื่อเป็นความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของประเทศ ในฐานะคนไทยผมจะปฏิเสธได้อย่างไร ที่มีความรู้เป็นตัวเป็นตนอยู่ทุกวันนี้ก็ได้อาศัยทุนรัฐบาลไปเล่าเรียนมา บุญคุณนั้นผูกพันอยู่ชั่วชีวิตที่จะต้องตอบแทนต่อแผ่นดิน”

เคราะห์กรรมที่หวั่นๆ อยู่ในใจจึงกลายเป็นจริง ตั้งแต่เมื่อครั้งได้ยินชื่อของตัวเอง เป็นหนึ่งที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากมีการปฏิวัติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 22 พ.ค.2557

** เป้าหมาย-วิธีการ

เมื่อตกลงกันแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ให้รายชื่อบุคคลที่สมควรเป็นกรรมการมาให้แผ่นหนึ่ง ประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายสาขา ซึ่งรู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง แต่เมื่อดูภูมิหลังแล้วก็ไม่ขัดข้องใดๆ ส่วนที่ยังขาดอยู่ 3-4 ชื่อ นายกฯก็ให้ไปปรึกษากับผู้ใหญ่ 2-3 คน เมื่อแต่ละคนเสนอใครมา ตนก็ไม่ขัดข้อง แต่ที่เสนอๆ กันมานั้นยังขาดสายสื่อมวลชน นายมีชัยก็เสนอชื่อคนที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานไปเพียงคนเดียว (นายภัทระ คำพิทักษ์ จากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์) แล้วก็ตกลงตามนั้น

เมื่อลงมือทำงาน ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของกรธ.ทุกคน และเจ้าหน้าที่ทั้งที่สภา และจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรธ.จึงโชคดีที่ทำร่างเบื้องต้นแล้วเสร็จ วันที่ 29 ม.ค.2559 ใช่เวลาเพียง 3 เดือน

“เหตุที่เราสามารถทำงานได้เร็วแล้วเสร็จตรงตามกำหนด เพราะวิธีการทำงานที่อาจแตกต่างกับคนอื่น คือ ในการประชุมแทนที่ฝ่ายเลขานุการจะต้องเป็นผู้คอยแก้ไขร่างและจัดพิมพ์เพื่อแจกจ่าย ผมอาศัยความชำนาญการเคยเป็นเสมียนมาก่อน เป็นผู้จัดทำเสียเอง คอมพิวเตอร์ที่เป็นตัวศูนย์กลาง จึงอยู่ที่ผมเมื่อมีใครเสนอแนวคิดอะไรขึ้น ผมจะแปลงเป็นตัวร่างของมาตราที่เกี่ยวข้อง พิมพ์ขึ้นจอให้ทุกคนเห็นพร้อมกัน จากร่างเบื้องต้นจึงค่อยๆ ตบแต่ง วิเคราะห์ วิจารณ์และค่อยๆ ปรับแก้ไขไป บางครั้งเมื่อพิมพ์ออกมาดู แล้วคุยกันไม่กี่ประโยค ก็รู้ว่าไปไม่ได้ก็ลบทิ้งไป เรื่องใดเป็นที่ยุติ ก็จะปรากฎให้เห็นทั่วกันในทันทีไม่ต้องรอวันรุ่งขึ้น”

ในการประชุมทำงานของ กรธ. กรรมการจึงหลับไม่ได้ ใครเผลอหลับไป ตื่นมาอีกที อาจพบว่า เขาเดินหน้าไปหลายมาตราแล้วก็ได้

**หน้าชื่นรับทุกข้อเสนอแนะ-คำด่า

ถ้าใครอ่านรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างละเอียดและเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญเก่าๆ จะเห็นว่า มีแนวคิด แนวทาง และหลักเกณฑ์ใหม่ๆ มากมาย ส่วนใหญ่ร่างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ได้รับรู้จากประชาชนและคนทั่วไปหรือจากการประสบพบเห็นของกรธ.หรือผู้ทื่ฝากบอกกันต่อๆมาโดยรวมแล้วไม่ว่าใครจะเสนอแนะอะไรแม้แต่พวกที่เสนอไปพร้อมกับด่าว่าเราก็ฟังเพียงแต่เราสกัดเอาแต่เฉพาะส่วนที่จะเป็นแนวคิดส่วนที่ด่าเราเราก็คืนเขาไป

แต่บางทีคำด่าว่าหรือคำกล่าวหานั้นก็เกิดประโยชน์เหมือนกัน เพราะเป็นความคิดในทางร้าย ที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่ามนุษย์จะคิดอย่างนั้นได้ เราก็ย้อนกลับไปเขียนให้ครอบคลุมถึง เพื่อขจัดสิ่งร้ายๆนั้นออกไป เรื่องใดที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ จะบันทึกไว้เพื่อนำไปเขียนไว้ในกฎหมายลูก

“ความในใจ” ของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ใน “บันทึกไว้กันลืม”

**เหตุผลต้องเป็น “บัตรใบเดียว”

…เมื่อตอนที่ กรธ.เริ่มคิดเรื่องคะแนนทุกคะแนนต้องมีความหมาย อันเป็นที่มาของ”บัตรใบเดียว”นำไปใช้คำนวณทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขต และนำคะแนนนั้นมาใช้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำได้ว่าเมื่อเริ่มต้น นายประพันธ์ นัยโกวิท (อดีตกกต.) ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงคุยเรื่องนี้กันหลายวันนายประพันธ์ก็ไม่เห็นด้วยแต่ค่อยๆอ่อนลงในที่สุดก็เห็นด้วยตนไม่รู้ว่าเห็นด้วยเพราะเห็นว่าคนอื่นๆเกือบทั้งหมดเห็นด้วยหรือเพราะเห็นด้วยจากการพูดคุยถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

ท้ายที่สุดนายประพันธ์เป็นคนเดียวที่อธิบายเรื่องนี้ได้อย่างลึกซึ้งและละเอียด จะให้ไปโต้กับใครที่ไหนก็ได้ แถมยังสามารถอธิบายถึงวิธีคำนวณได้ราวกับ “รามานุจันท์” (นักคณิตศาสตร์เอกของโลกชาวอินเดียที่ยากจนและไม่จบปริญญา แต่มหาวิทยาล้ยเคมบริดจ์แห่งอังกฤษ ต้องเชิญไปร่วมทีมในสาขาวิชาคณิตศาสตร์)

** อยากเห็น”วุฒิสภา” โฉมใหม่

เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องหนึ่งนั้นเราไม่ได้คิดหลักลอบ หากแต่มีที่มาจากกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 35  ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริง กรธ.เลยคิดว่า ทำไมไม่แปลงวุฒิสภาให้เป็น องค์กรที่สร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ

เปลี่ยนวุฒิสภาให้เป็นสภาที่จะรับรู้ความต้องการหรือความเดือดร้อน หรือส่วนได้เสียของคนกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริงและความต้องการของเขาได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง ...นั่นจึงเป็นที่มาของวุฒิสภาที่จะมาจากประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกอาชีพ ทุกลักษณะ เป็นการรักษาประโยชน์ของคนทุกระดับชั้น

ที่จริงวุฒิสภาที่คิดสร้างนั้น คล้ายกับ “สภาสูง”ของอังกฤษ แต่สภาสูงนั้นเป็นการรักษาประโยชน์ของคนชนชั้นสูง ส่วนวุฒิสภาไทย เป็นการรักษาผลประโยชน์ของคนทุกระดับชั้น ให้ทุกภาคส่วนสามารถบอกเล่าความคับแค้น อุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขในส่วนของเขาได้อย่างมีนัยสำคัญ ผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจึงมิใช่ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีประสบการณ์ล้นฟ้าอีกต่อไป หากแต่เป็นผู้มาจากคนทุกหมู่เหล่าที่ประกอบอาชีพ มีคุณลักษณะเฉพาะ เพื่อจะสะท้อนถึงความต้องการของเขาอย่างแท้จริง

“ความในใจ” ของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ใน “บันทึกไว้กันลืม”

** วิชามาร วันลงประชามติ

กกต.กำหนดให้ 7 ส.ค.2559 เป็นวันออกเสียงประชามติ โดยประชาชนต้องลงมติ 2 เรื่องคือ 1.จะเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ 2..จะเห็นชอบด้วยกับประเด็นเพิ่มเติมที่ สนช.กำหนดขึ้นหรือไม่

ใกล้ถึงวันลงประชามติ สองพรรคการเมืองใหญ่ ออกมาจับมือร่วมกันเพื่อบอกให้รู้ว่า ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น บางคนออกมาบอกว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ล้าหลังยิ่งกว่าพม่าด้วยซ้ำไป ขณะเดียวกันก็มีมือดี ไม่รู้ว่าจากพรรคการเมืองใดหรือไม่ ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียบิดเบือด สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ในแง่มุมต่างๆ กรธ.ต้องคอยออกมาชี้แจงแทบเป็นรายวัน บิดเบือกแม้กระทั่งสิทธิในบัตรทองเกี่ยวกับการรักษาว่า ได้ยกเลิกสิทธินั้นแล้ว ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้ขยายความคุ้มครองออกไปมากกว่าเดิม ...นับว่าเป็นการใช้ “วิชามาร” อย่างที่เขาถนัด

ยิ่งมีการใช้วิชามารมากเท่าไร ยิ่งทำให้ กรธ.มั่นใจว่าการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเข้ามาสู่วงการเมืองไว้อย่างเข้มงวด เป็นแนวคิดที่ถูกต้อง ทำให้กรธ.ทุกคนทุ่มเทสุดชีวิตที่จะชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบความจริง

เมื่อใกล้ลงประชามติ มีข่าวหนาหูมีการสั่งให้ทหารลงคะแนน ไม่รับร่างรธน. ได้ยินแล้วก็กังวลใจ แต่ได้รับความกรุณาจากนายกฯ ออกมาแถลงว่า ท่านลงคะแนนรับร่างรนธ.และประเด็นเพิ่มเติม จึงค่อยสยบข่าวลือนั้น นายกฯยังสั่งการทีมโฆษกของรัฐบาลช่วยอำนวยความสะดวกจัดช่องทางให้กรธ.ออกมาพูดทางทีวีเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ สรุปสาระสำคัญของรธน.ให้ประชาชนทราบ

ที่สุดการลงประชามติ 7 ส.ค.2559 ปรากฎผู้มาออกเสียง 29,740,677 หรือร้อยละ 59.40 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด 50 ล้านคน ผ่านความเห็นชอบในประเด็น 1 เห็น-ไม่เห็นชอบ ร่างรธน .16,820,402 เสียง   2.ประเด็นคำถามพ่วง 15,132,050 เสียงร้อยละ 58.07

ยอมรับว่า กรธ.ทุกคนดีใจ โล่งใจ เหมือนยกภูเขาออกจากอก

“นายกฯกรุณาส่งแจกันดอกไม้มาแสดงความยินดีกับกรธ. ทั้งที่เราน่าจะเป็นฝ่ายส่งดอกไปไปขอบคุณท่าน เพราะท่านมีส่วนช่วยอย่างมากในความสำเร็จนี้”

“ความในใจ” ของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ใน “บันทึกไว้กันลืม”

related