svasdssvasds

งานวิจัยชี้ มลพิษทางอากาศทำให้เด็กอายุสั้นลง 20 เดือน

งานวิจัยชี้ มลพิษทางอากาศทำให้เด็กอายุสั้นลง 20 เดือน

สถาบันวิจัยสุขภาพหลายแห่งในสหรัฐฯ ร่วมเผยแพร่รายงานเรื่องสถานะของสภาพอากาศโลก ระบุ มลพิษทางอากาศทำให้เด็กอายุสั้นลงถึง 20 เดือน

รายงานสถานะอากาศโลกประจำปี เผยแพร่ข้อมูลล่าสุดเรื่องคุณภาพอากาศและสุขภาพจากทั่วโลก ระบุว่า สิ่งที่ทำให้รายงานปีนี้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา คือการประเมิณผลกระทบที่มีต่ออายุขัยของมนุษย์ ซึ่งจากการวิจัย พบว่าเด็กๆที่อาศัยอยู่ในประเทศเอเชียใต้อย่างอินเดียและปากีสถาน มีความเสี่ยงสูงสุด มลพิษทางอากาศทำให้เด็กเกิดใหม่ทุกวันนี้ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงจะมีอายุสั้นลงโดยเฉลี่ย 20 เดือน และประชากรโลกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก

รายงานอ้างงานวิจัยหลายโครงการที่ผ่านมาระบุปัญหาสุขภาพที่มีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ ผลกระทบระยะสั้น อย่างเช่นโรคหืด หรือโรคระบบทางเดินหายใจและโรคระบบหัวใจหลอดเลือดที่ทำให้ถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล

การต้องอยู่กับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงให้ป่วยเรื้อรังและทำให้อายุสั้น อย่างเช่นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ มะเร็งปอด รวมไปถึงโรคปอดบวมด้วย

รายงานระบุว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการตายสูงสุดเป็นอันดับ 5 ทั่วโลก แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนหรือจากโรคมาลาเรียเสียอีก โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการตายก่อนวัยของ 3 ล้านคนในปี 2017 มากกว่าครึ่งคือคนที่อาศัยอยู่ในจีนและอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเทศที่กำลังประสบความสำเร็จในการจัดการกับมลพิษทางอากาศในปีที่ผ่านมา คือประเทศจีน ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ระดับมลพิษทางอากาศโดยเฉลี่ยของจีนจะยังสูงกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก แต่ว่าปริมาณฝุ่น PM2.5 นั้นลดลง เนื่องจากความเข้มงวดของรัฐบาล

related