svasdssvasds

ถอดรหัส ม.270 แก้ปมรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ? โดย บอน ณ บางแก้ว

ถอดรหัส ม.270 แก้ปมรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ? โดย  บอน  ณ  บางแก้ว

แม้นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย จะออกมาปิดประตูโครม! ใส่หน้านายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฎิรูป ที่โยนประเด็นรัฐธรมนูญ มาตรา 270 เป็นตัวช่วยรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ! ไม่สามารถทำได้ เพราะเปิดช่องให้ ส.ว.ร่วมโหวตกับ ส.ส.ได้เฉพาะกฎหมายกี่ยวกับการปฏิรูปเท่านั้น

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” ผู้ค้นพบตัวช่วยในมาตรา 270 เป็นคนเดียวกับที่เคยประกาศผ่านเวทีดีเบตหน้าจอทีวีระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง “จะอยู่กับนายกฯ ลุงตู่ ที่มีมาตรา 44 ในมือ หรือนายกฯ ลูงตู่ ที่ไม่มีมาตรา 44” การโยนเรื่องนี้ออกมาในจังหวะแบบนี้ จึงนับว่าไม่ธรรมดาทีเดียว..

“ร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา”

ข้อความในวรรคสอง ของมาตรา 270 กำหนดหน้าที่และอำนาจ ส.ว.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกในบทเฉพาะกาลไว้อย่างนี้  ซึ่งทำให้ร่างกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ต้องใช้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณา

ดังนั้น ถ้าเหมารวมให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นกฎหมายปฏิรูปตามหมวด 16 ด้วย ก็ไม่ต้องวิตกว่าร่างกฎหมายสำคัญจะถูกคว่ำ ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และเป็นปัญหาให้กับรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำอีกต่อไป

แม้รัฐธรรมนูญ จะกำหนดกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นการเฉพาะไว้ต่างหากในมาตรา 140-144 รวมถึงความเห็นเกี่ยวกับบทเฉพาะกาล ที่ยกเว้นให้เฉพาะบททั่วไป ไม่สามารถไปยกเว้น”บทเฉพาะ”ที่มีบัญัติไว้เป็นการเฉพาะได้

แต่ถ้าใช้คำว่า”บทเฉพาะกาล”ที่ให้อำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกไว้ได้ และโยงการสนับสนุนงบประมาณให้กับการปฏิรูปด้านต่างๆ ถือเป็นกฎหมายปฏิรูปตามหมวด 16 ด้วย ร่างกฎหมายสำคัญอื่นๆ อีกหลายฉบับ ก็อยู่ในข่ายได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน

เพราะในหมวด 16 กำหนดให้การปฏิรูปครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ

“หากเข้าองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญกำหนด ก็สามารถทำได้” นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัตแห่งชาติ(สนช.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวไว้อย่างนี้

แล้วรัฐธรรมนูญกำหนดรายละเอียดเรื่องนี้ไว้อย่างไร?

“ร่างพระราชบัญญัติใดที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า เป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประทศ ให้แจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบพร้อมกับการเสนอร่างพระราชบัญัตินั้น”

แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมิได้แจ้ง หากสมาชิกมีความสงสัยให้เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของแต่ละสภา ร้องขอให้ประธานรัฐสภาเพื่อให้วินิจฉัยได้ โดยให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องต่อ”คณะกรรมการร่วม”ซึ่งประกอบด้วย

ประธานวุฒิสภาเป็นประธาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ผู้นำฝ่ายค้านฯ ผู้แทนคณะรัฐมนตรีคนหนึ่ง และประธานคณะกรรมาธิการสามัญคนหนึ่ง ซึ่งเลือกกันเองระหว่างประธานคณะกรรมาธิการสามัญในวุฒิสภาทุกคณะ เป็นกรรมการ

โดยการวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมให้ถือเสียงข้างมาก และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมดังกล่าวให้เป็นที่สุด

ตรงนี้กระมัง..ที่ทำให้”ไพบูลย์ นิติตะวัน”ค้นพบตัวช่วยรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำครับ!?

related