svasdssvasds

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯควรหยุดที่ตรงไหน

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯควรหยุดที่ตรงไหน

สงครามภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐฯและจีนกำลังเข้มข้น และถึงแม้ว่ารัฐบาลทั้งสองประเทศจะไม่ออกมายอมรับ แต่นักวิเคราะห์ก็ระบุว่าบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะจีนที่จะกระทบความพยายามการเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่าตอนจบสงครามการค้ากำลังใกล้เข้ามาทุกที แต่เมื่อวันนั้นมาถึง สหรัฐฯจะสามารถมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนอย่างสันติได้หรือไม่

บทวิเคราะห์ของซีเอ็นเอ็นโดย จอห์ เคซิค อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกัน และศาตราจารย์ มาร์ค บุช ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ใช่คนแรกที่มีความไม่พอใจกับจีน แต่การใช้กลยุทธภาษีนำเข้าแบบไม่วางแผนล่วงหน้าของทรัมป์ไมใช่คำตอบ ตรงกันข้าม กลับส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจและผู้บริโภคชาวอเมริกัน รวมถึงเกษตรกรที่ส่งออกผลผลิตไปจีนเป็นหลัก นอกจากนี้ กลยุทธภาษีนำเข้ายังกระทบความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตร ที่สหรัฐฯต้องพึ่งพาในการจัดการกับจีนและรักษาสมดุลเศรษฐกิจโลก

ประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องการให้จีนยินยอมสหรัฐฯเรื่องการเข้าถึงตลาดจีน การอุดหนุนจากรัฐบาล และโดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งสามประเด็นเป็นเรื่องสำคัญ ธุรกิจสหรัฐฯต้องการเส้นทางสู่ตลาดจีนที่ชัดเจน และไม่ควรต้องแข่งขันกับบริษัทเอกชนจีนที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล แต่การเจรจาควรได้รับการจัดการแบบพหุภาคี ไม่ว่าจะเป็นผ่านทางองค์การค้าโลก หรือผ่านข้อตกลงการค้าอย่างความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

บทวิเคราะห์ระบุว่า แต่มีการเจรจาทวิภาคีประเด็นหนึ่งที่สหรัฐฯควรจะเดินหน้ากับจีนต่อไป คือข้อตกลงเพื่อปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การเจรจาที่ผ่านมายังไม่สามารถลดระเบียบการส่งผ่านเทคโนโลยีได้ ซึ่งกลายเป็นระเบียบที่ทำให้บริษัทสหรัฐฯจำยอมแบ่งปันข้อมูลเทคโนโลยีกับบริษัทจีนที่เป็นคู่แข่ง เพื่อที่จะสามารถขายหรือลงทุนในจีนได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จริงๆแล้ว เป็นการฝ่าฝืนทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ นวัตกรรม ความก้าวหน้าทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ต่างๆ และข้อตกลงนี้ต้องมาพร้อมกับการบังคับใช้ที่เข้มงวด ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นห่างหายไปกับความพยายามสร้างสันติภาพการค้ากับจีน

ปัจจุบัน สหรัฐฯมีสนธิสัญญาการลงทุนถึง 40 ข้อตกลงกับคู่ค้าทั่วโลก และสหรัฐฯได้พยายามหาทางออกกับจีนและอินเดียมาตั้งแต่ปี 2008

ความกดดันทางการเมืองจากหลายด้านกลับทำให้การเจรจาล่าช้า บทวิเคราะห์ระบุว่าถึงเวลาแล้วที่จะดึงจีนและอินเดียกลับสู่โต๊ะเจรจา และการลงนามในสนธิสัญญาการลงทุนสหรัฐฯ-จีน ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพการค้าระหว่างสองประเทศ

related