svasdssvasds

พึ่งเทคโนโลยีมากไปเสี่ยงสมองเป็นสนิม

พึ่งเทคโนโลยีมากไปเสี่ยงสมองเป็นสนิม

นวัตกรรมมากมายถูกคิดค้นขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชีวิตประจำวัน ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ต่างใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียหรืออุปกรณ์ที่ใช้ความอัจฉริยะจากปัญญาประดิษฐ์ แต่สิ่งที่ตามมาจากความสะดวกสบายของนวัตกรรมกลับมีด้านที่เป็นโทษด้วยเช่นกัน นั่นคือทำให้เราเคยชินและหลงลืมการคิด ละเลยการจดจำ จนทำให้เราตัดสินใจบางเรื่องล่าช้าเพราะรอและพึ่งเทคโนโลยีมากเกินความจำเป็นจนอาจทำให้เราเกิด ภาวะ “สมองเป็นสนิม” ได้

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ระบุว่า สมองประกอบด้วย เซลล์ประสาทมากกว่า 1,000 ล้านเซลล์ ทำงานตลอดเวลา ทั้งการควบคุมความคิด ความจำ การตัดสินใจ การเคลื่อนไหว ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ กำกับการเต้นของหัวใจ การหายใจ การย่อยอาหาร การพักผ่อน ปกติเซลล์สมองจะมีโอกาสเสื่อมลงเมื่อเราอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันมีงานวิจัยพบว่า เซลล์ประสาทจะถูกผลิตสร้างขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ ตลอดเวลาไม่มีหยุด ตราบใดที่มีการฝึกการใช้สมองบ่อยๆ ในทางตรงกันข้ามหากสมองไม่ถูกใช้งาน เซลล์ประสาทจะเสื่อมสลายและตายไปในท้ายที่สุด

เทคโนโลยีที่ส่งเสริมให้เราเกิดภาวะสมองเป็นสนิม

เราอยู่ในยุคที่ชีวิตประจำวันเราใช้งานเทคโนโลยีตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต กูเกิ้ล สมาร์ทซิตี้ สมาร์ทโฮม จีพีเอสนำทาง การแจ้งเตือนจากปฎิทิน คำนวนโดยเครื่องคิดเลข ทุกสิ่งที่กล่าวข้างต้นล้วนส่งผลต่อสมอง ทำให้เราติดความสบาย เสี่ยงการเกิดภาวะสมองเป็นสนิมได้

ศาสตราจารย์ ไมเคิล ซาลิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาหลอดเลือดในสมอง จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย กล่าวถึงเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อสมองว่า มีผู้ป่วยอย่างน้อยหนึ่งรายต่อสัปดาห์ที่หลงลืมสิ่งต่าง ๆ เช่น ลืมกุญแจรถ ลืมรับลูก เป็นผลมาจากภาวะสมองอยู่กับอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี รวมถึงการรับข้อมูลต่างๆ ที่มากจนล้นเกินไป จึงทำให้หลงลืมกิจวัตรปกติที่ควรทำ ซึ่งเป็นสัญญาณของอาการสมองเสื่อมระยะแรก

ฉะนั้นหากไม่อยากให้สมองเราเกิดภาวะสมองเป็นสนิม เราควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ พึ่งเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมให้น้อยลง ลองปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ บ้าง กระตุ้นเซลล์ประสาทเพื่อชะลอการเสื่อมถอยของสมอง

พึ่งเทคโนโลยีมากไปเสี่ยงสมองเป็นสนิม

วิธีเพิ่มประสิทธิภาพสมองของมนุษย์

1. ออกไปเดินเล่น

การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเรื่องการคิดและการเก็บความทรงจำ การเดินเล่นแบบคาร์ดิโอในฟิตเนสหรือวิ่งทางไกลช่วยให้สมองได้พักผ่อนจากความคิดที่เกี่ยวกับงานหรือข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามา ยิ่งเมื่อเดินไปยังสถานที่ใหม่ๆ สิ่งที่เห็นผ่านตาทำให้เกิดแนวคิดใหม่ที่แตกต่างส่งไปยังสมองอีกด้วย

2. ดื่มด่ำกับงานอดิเรกใหม่ๆ 1 ชั่วโมงต่อวัน

สมองต้องการการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่มีการคิดที่ซับซ้อนบ้างเพื่อเป็นการลับสมองในตัว ฉะนั้นควรหางานอดิเรกใหม่ๆ สักหนึ่งชั่วโมงต่อวันก็จะทำให้สมองของคุณแข็งแรง เช่น ลองมาเล่นเกมส์จับผิดภาพ จิ๊กซอว์ โซโดกุ หมากรุก หมากล้อม ครอสเวิร์ด วาดภาพ สวดมนต์ ฝึกการจำ เล่นทายปัญหา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นเซลล์ประสาทในสมอง ทำให้เกิดการสร้างเซลล์ใหม่อย่างต่อเนื่อง

3. กินอาหารสมอง

สมองของเราเป็นเช่นร่างกายที่ต้องการอาหารที่ดีมาเสริมบ้าง เช่น กรดไขมันโอเมก้า3 ที่พบได้ในอาหารจำพวก ถั่ววอลนัท ไข่ ผักใบเขียว ปลาแซลมอน ปลาเทราท์ น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ และน้ำมันเมล็ดเชีย และฟลาโวนอยด์ที่พบได้ในกาแฟ เบอร์รี่ ผักใบเขียว และดาร์กช็อคโกแลต

4. หาเวลาพัก

สมองจะคิดตลอดเวลา กังวลทุกวัน บางครั้งต้องปล่อยวางล้างความวิตกกังวลนั้นไป  อาจนั่งทำสมาธิ หรือทำโยคะ จะช่วยให้จิตใจปลอดโปร่งและคลายความเครียดไปได้มาก รวมถึงการนอนที่ดี ควรนอนหลับให้ตรงเวลาทุกคืนและตื่นเป็นเวลาเดิมทุกวันในตอนเช้า ให้ร่างกายและสมองได้พักในช่วงหลับได้อย่างเพียงพอไม่มากและน้อยจนเกินไป ก่อนนอนให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากด้วย

หากได้ลองปฏิบัติตาม 4 ข้อข้างต้น จะพบว่าประสิทธิภาพทางด้านการสร้างสรรค์ในแง่ของการทำงานจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถ้าไม่เชื่อลองทำดูแล้วคุณจะพบว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมไม่กี่อย่างช่วยสมองได้จริงๆ

 

 

 

related