svasdssvasds

"เหรียญของพ่อ" เรื่องเล่าจาก อดีต ผญบ.รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9

"เหรียญของพ่อ" เรื่องเล่าจาก อดีต ผญบ.รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9

นายมนตรี พฤกษาพันธุ์ทวี อดีตผู้ใหญ่บ้าน รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสร้างอาชีพให้กับชาวเขา

ถึงแม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ภาพที่ ในหลวง รัชการที่ 9 ทรงเสด็จมาที่ดอยผาหมี เมื่อช่วงปี 2513 ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของอดีตผู้ใหญ่บ้าน นายซาเจ๊ะ หม่อโม๊ะกู่ หรือ นายมนตรี พฤกษาพันธุ์ทวี อย่างไม่เคยลืมเลือน ขณะที่เล่า มือของเขาก็จับเหรียญที่ห้อยคอ ซึ่งเป็นเหรียญที่พระราชทานให้ชาวเขาไว้ใช้แทนบัตรประชาชน

นายมนตรีเล่าว่า ช่วงนั้นหมู่บ้านอยู่ติดกับแนวชายแดน มีการสู้รบระหว่ารัฐบาลเมียนมา กับชนกลุ่มน้อย กระสุนมาตกในหมู่บ้านประจำ แต่พระองค์ไม่สนใจเรื่องความปลอดภัยของพระองค์แต่อย่างใด ด้วยความเป็นห่วงประชาชน ทั้งที่เป็นคนไทยและพี่น้องชนเผ่า

พระองค์เสด็จมาพบชาวบ้านชาวเขาเผ่าอาข่าอย่างใกล้ชิด ด้วยการทรงม้าและล่อ เพื่อตรวจดูสถานที่ของหมู่บ้าน และความเป็นอยู่ โดยมีนายมนตรี ที่ขณะนั้น อายุ 28 ปี รับหน้าที่เป็นคนประคองม้าให้ในหลวง รัชกาลที่ 9 และยังทำหน้าที่ล่าม เพราะเป็นชาวอาข่าไม่กี่คนที่สื่อสารภาษาไทยได้ เป็นผู้นำพระองค์ท่านเสด็จ โดยมี นายนิยุต พฤษาพันธุ์ทวี น้องชายได้เข้าเฝ้า และดูแลพระองค์อย่างใกล้ชิด

"เหรียญของพ่อ" เรื่องเล่าจาก อดีต ผญบ.รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9

โดยนายมนตรีทำหน้าที่ประคองพระองค์ ในขณะที่ทรงม้า ส่วนนายนิยุตนั้น เป็นคนเดินประคองอีกด้านหนึ่ง และ นายเล่าต๋า หม่อโม๊ะกู่ จูงม้าให้พระองค์ประทับ และเมื่อพระองค์ทรงมาพักที่บ้านของนายมนตรี และทรงเสวยสุธารสชา (น้ำชา) ทรงชมว่าหอมดี ก่อนที่จะพูดคุยสอบถามความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

พระองค์ทรงยืนดูภูมิประเทศรอบๆ แล้วตรัสว่า ที่นี้ดีนะ เพียงแต่ติดกับชายแดนมากเกินไป เกรงว่าชาวบ้านจะไม่ปลอดภัย ก่อนชี้พระหัตถ์ไปอีกทางหนึ่งที่อยู่ตรงกันข้าม แล้วตรัสว่า ให้ย้ายไปอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น (คือพื้นที่ตั้งหมู่บ้านดอยผาหมีในปัจจุบัน)

นายมนตรีเล่าต่อว่า อันที่จริงแล้ว พระองค์เคยเสด็จมาก่อนหน้านี้ ในช่วงปี 2512 โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง พระองค์ได้ทอดพระเนตรลงมาเห็นว่า ป่าเขตแนวชายแดนในพื้นที่ประเทศไทย ถูกทำลายจนโล่งเตียน แต่ป่าในฝั่งเมียนมายังอุดมสมบูรณ์

"เหรียญของพ่อ" เรื่องเล่าจาก อดีต ผญบ.รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9

เมื่อพระองค์ทรงเห็นสภาพภูมิประเทศเป็นเช่นนี้ จึงเสด็จกลับไปวางแนวทาง และเสด็จกลับมาอีกครั้ง พระองค์เห็นว่าคนที่นี่ไม่มีอาชีพอื่นนอกจากปลูกฝิ่น พระองค์ทรงแนะนำว่า การปลูกแบบนี้ผิดวิธี ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ ควรทำการเกษตรอื่นทดแทน แต่ไม่ต้องรีบ ให้ผลผลิตที่ปลูกทดแทนออกผลก่อน จึงค่อยเลิกปลูกฝิ่น

นอกจากนี้พระองค์ยังเห็นว่าพื้นที่เดินทางลำบาก การขนย้ายผลิตผลทางการเกษตรเข้าไปขายทำได้ยาก ต้องใช้เวลาหลายวันในการลงไปในเมือง จะทำให้ผลผลิตเน่าเสีย ก่อนที่จะได้ขายซึ่งหลังจากพระองค์เสด็จกลับไปไม่กี่วัน ก็มีรถแทรกเตอร์ขึ้นมาทำถนนเข้ามาถึงหมู่บ้าน

ตามมาด้วยรถสิบล้อของโครงการหลวง บรรทุกเมล็ดพันธุ์กว่า 100 ชนิด และอุปกรณ์การเกษตรมาแจกจ่ายชาวบ้าน ทรงให้แนวคิดว่าทดลองปลูกไปก่อน พืชบางชนิดไม่คุ้นเคยกับดินที่นี่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าอันไหนเจริญงอกงาม ก็ให้ทำต่อไป

"เหรียญของพ่อ" เรื่องเล่าจาก อดีต ผญบ.รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกาแฟ และกาแฟต้นแรกของภาคเหนือได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นที่นี่ แต่กาแฟต้นแรกนั้นคือพันธุ์ โรบัสต้า แต่ต้นสูง ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเป็นพันธุ์อาราบิก้า แล้วกระจายไปทั่วภาคเหนือ ก่อนโด่งดังมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ส่วนต้นกาแฟต้นแรกที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนั้น ยังปรากฏที่นี่แห่งเดียวในประเทศไทย คือที่หมู่บ้านดอยผาหมี หมู่ 6 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย...

related