svasdssvasds

ป.ป.ส.เตรียมชงกฎหมายปลดกระท่อมพ้นยาเสพติด เข้า ครม.10 มี.ค.นี้

ป.ป.ส.เตรียมชงกฎหมายปลดกระท่อมพ้นยาเสพติด เข้า ครม.10 มี.ค.นี้

ป.ป.ส. เผยเสนอร่างกฎหมายปลดสถานะพืชกระท่อมจากบัญชียาเสพติด เข้าที่ประชุม ครม. 10 มี.ค. คาดแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ ย้ำกระท่อมเป็นสมุนไพรไทย ประโยชน์มากกว่าโทษ ทั่วโลกไม่กำหนดเป็นยาเสพติด

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างกฎหมายปรับสถานะพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ว่า

ขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการเตรียมเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในวันที่ 10 มี.ค.นี้ หากไม่ติดขัดคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ให้ความสำคัญกับการลดทอนความเป็นอาญาของสิ่งที่ไม่เป็นอาชญากรรมร้ายแรง ลดภาระของทางรัฐบาลทั้งในด้านงบประมาณและการบังคับใช้กฎหมาย

นายนิยม เปิดเผยด้วยว่า สำหรับเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายปรับสถานะพืชกระท่อมจากบัญชียาเสพติด เนื่องจากประเทศไทยมีการศึกษาวิเคราะห์แนวทางการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมมาอย่างต่อเนื่อง

พบว่าพืชกระท่อมเป็นพืชสมุนไพรไทยที่ใช้ในวิถีชาวบ้านมาอย่างยาวนาน จากการศึกษาวิจัยพบว่าแม้พืชกระท่อมจะมีผลกระทบต่อร่างกายแต่ก็ไม่มาก ในทางกลับกันก็มีประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยเฉพาะสารสำคัญในกระท่อมที่เรียกว่า “ไมตราเจนีน” ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวด และสามารถนำมาใช้เชิงเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบการค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1988 ไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ และประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ดังนั้นหากถอดพืชกระท่อมออกจากความเป็นยาเสพติดให้โทษ จะสามารถส่งเสริมการศึกษาวิจัยและการใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น

“หลังปลดล็อก หากพบการนำพืชกระท่อมไปผสมกับยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอื่น ก็อาจมีความผิดฐานผลิตยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ และเมื่อเสพสารผสมนั้นเข้าสู่ร่างกายก็มีความผิดฐานเสพยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์เช่นกัน รวมทั้งการนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายก็ยังคงถูกควบคุม โดยต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น”เลขาธิการป.ป.ส.ระบุ

related