svasdssvasds

ศาลปกครองรื้อใหม่ "คดีภาษีหุ้นชินคอร์ป"

ศาลปกครองรื้อใหม่ "คดีภาษีหุ้นชินคอร์ป"

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ศาลปกครองกลางนัดพิจารณาคดีใหม่ ปม “ศิโรตม์”ถูกปลัดคลังลงโทษปลดออกจากราชการ หลังป.ป.ช.ชี้มูลความผิดละเว้นไม่เก็บภาษีหุ้นชินฯ และร้องของรื้อคดี 

วันนี้ (12 ก.ค. 60) - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ในคดีที่นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ฟ้องปลัดกระทรวงการคลัง กรณีถูกลงโทษปลดออกจากราชการ สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายศิโรตม์ กับพวก กรณีไม่เรียกเก็บภาษีเงินได้จากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่รับโอนหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 738 ล้านบาท จาก นางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ผู้ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตร

ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งปลดออกจากราชการ และคืนสิทธิประโยชน์แก่นายศิโรตม์ แต่ป.ป.ช.ได้ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่า เป็นบุคคลภายนอกมีส่วนได้ส่วนเสีย และถูกกระทบจากคำพิพากษา แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าว โดยเห็นว่า ไม่ได้วินิจฉัยก้าวล่วงถึงกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. และไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการดำเนินการของ ป.ป.ช. ประกอบกับไม่ปรากฏว่าการพิจารณาของศาลที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น เข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการขอพิจารณาคดีใหม่

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง แต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองกลาง เป็นให้รับคำร้องของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปตามรูปคดี เนื่องจากเห็นว่ากรณีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงจากนายศิโรตม์ และพยานบุคคล รวมถึงพยานเอกสาร หลักฐาน จึงเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการชี้มูลความผิดมาตั้งแต่ต้น จึงมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัย หรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีได้

กรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติตั้งแต่เดือน ธ.ค.2549 ชี้มูลความผิดนายศิโรตม์ กับพวกทั้งทางอาญา และทางวินัยอย่างร้ายแรง โดยพิจารณาจาก 2 ประเด็นคือ 1.การรับโอนหุ้นชินคอร์ป ของนายบรรณพจน์ จาก นางสาวดวงตา ผู้ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน ที่ถูกอ้างว่าเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น เป็นการทำนิติกรรมอำพรางที่มีเจตนาไม่สุจริตตั้งแต่แรก

และ 2.ที่นายศิโรตม์ กับพวก ร่วมกันพิจารณาว่า การโอนหุ้นดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษี เป็นการกระทำฐานทุจริตต่อหน้าที่นั้น เป็นการวินิจฉัยโดยมิได้คำนึงถึงเหตุผล ความเป็นจริง ผลประโยชน์ของรัฐ และสาธารณชนเป็นสำคัญ เป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เป็นไปตามหลักกฏหมายอย่างแท้จริง พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาที่พยายามดึงดันการพิจารณาให้การโอนหุ้นดังกล่าว เข้าข่ายยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีให้ได้ เป็นการพิจารณาโดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย แนวทางปฏิบัติ ในอันที่จะรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ

related