svasdssvasds

นับถอยหลังคดี ‘จำนำข้าว’ ดาหน้าชี้ชะตา‘คุก-ยึดทรัพย์’

นับถอยหลังคดี ‘จำนำข้าว’ ดาหน้าชี้ชะตา‘คุก-ยึดทรัพย์’

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

โครงการรับจำนำข้าว “ตันละ 15,000 บาททุกเมล็ด” ไม่เพียงทำให้พรรคเพื่อไทยชนะขาดการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 และส่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นักการเมืองหน้าใหม่เพิ่งลงสนาม 49 วัน เป็นนายกฯหญิงคนแรกของเมืองไทย และเป็นโครงการรับจำนำข้าวนี่เองที่ “เขย่า” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากการเข้าควบคุมอำนาจปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตามมาด้วยคดีความผู้เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งทางอาญาและแพ่ง ที่นับถอยหลังสู่การตัดสินชี้ขาดของศาลเวลานี้

 

++จีทูจีข้าวโทษสูงประหารชีวิต

ทางอาญาเวลานี้มี 2 คดีที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีแรกคือ “คดีระบายข้าวจีทูจี” ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวกรวม 21 คนเป็นจำเลย ในความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบผิดก.ม.อาญา และความผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายป.ป.ช. มีอัตราโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต พร้อมโทษปรับ 35,274 ล้านบาทเศษ

 

[caption id="attachment_178146" align="aligncenter" width="503"] บุญทรง เตริยาภิรมย์ บุญทรง เตริยาภิรมย์[/caption]

โดยจากการไต่สวนพบว่า คู่สัญญามิใช่ตัวแทนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีน ไม่มีการสั่งจ่ายเงินจากต่างประเทศ และข้าวที่ระบายไม่ได้ถูกส่งออกไปแต่อย่างใด ซึ่งศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีที่อม.25/2558 เมื่อ 19 มีนาคม 2558 จำเลยคดีนี้มี 3 กลุ่มคือ กลุ่มนักการเมือง ข้าราชการการเมือง 3 คน คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ (หมอโด่ง) อดีตเลขานุการรมว.พาณิชย์ กลุ่มข้าราชการประจำ 3 คน คือ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผอ.สำนักการค้าข่าวต่างประเทศ และรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงษ์ ช่วยเกลี้ยง อดีตเลขาฯ กรมการค้าข้าว

 

++25 ส.ค.ชี้ชะตาบุญทรง-พวก

 

อีกกลุ่มเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล มี นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) และเครือข่ายรวม 15 คน มีบทบาทเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการตัวจริงในการรับช่วงข้าวจากโครงการดังกล่าว ต่อมาอัยการสั่งฟ้องอาญาโรงสีกิจทวียโสธร บริษัท เค.เอ็ม.ซี อินเตอร์ไรซ์ฯ บริษัทเจียเม้งฯ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม รวม 7 รายเป็นจำเลยฐานสนับสนุนการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบและทุจริต ในโครงการระบายข้าวจีทูจี ศาลรับฟ้องและให้พิจารณารวมเป็นคดีเดียวกัน จึงมีจำเลยเพิ่มเป็น 28 ราย คดีนี้คู่ความต่อสู้ในศาลนำพยานโจทก์และจำเลยขึ้นไต่สวนถึงนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ศาลนัดให้คู่ความแถลงปิดคดีด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรในวันที่ 15 สิงหาคม และนัดอ่านคำพิพากษา 25 สิงหาคมนี้

 

[caption id="attachment_178147" align="aligncenter" width="503"] อภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) อภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง)[/caption]

++21 ก.ค.ปิดฉากไต่สวนคดีข้าว


อีกคดีคือคดีรับจำนำข้าว ซึ่งดำเนินการควบคู่กันมา อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายป.ป.ช. กรณีละเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จนรัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท โดยศาลรับฟ้องเป็นคดีที่อม.22/ 2558 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558

เช่นกันคดีนี้โจทก์และจำเลยนำพยานขึ้นไต่สวนต่อสู้หักล้างกันมา โดยการนัดไต่สวนพยานจำเลยวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ จะเป็นนัดสุดท้าย โดยในช่วงนับถอยหลังสู่การตัดสินชี้ชะตาคดีนี้เป็นที่จับตาของสังคมอย่างใกล้ชิด ว่าชะตากรรมของอดีตนายกฯหญิงคนแรกของเมืองไทย จะเดินตามรอยพี่ชาย “นายทักษิณ ชินวัตร” ไปอีกคนหรือไม่

โดยในการไต่สวนนัดท้ายๆ นี้ นอกจากนำพยานฝ่ายตนขึ้นต่อสู้ทางคดีแล้ว ทีม กฎหมายของจำเลยยังยกข้อต่อสู้เพิ่มเติมเข้าสู่ศาลต่อเนื่อง อาทิ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 หลังการไต่สวนพยานจำเลย ฝ่ายนางสาวยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกไปเผชิญสืบโรงสีข้าว-คลังเก็บข้าวที่จ.อ่างทอง 16 แห่ง ที่ล่าสุดเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ตรวจแล้วเป็นไปตามบัญชี ไม่มีความเสียหาย แต่ศาลสั่งยกคำร้อง

ร้องตีความวิธีพิจารณาคดี


ถัดมาวันที่ 7 กรกฎาคม หลังไต่สวนพยานจำเลย 4 ปากแล้ว ทีมกฎหมายนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกระบวนการพิจารณาคดี โดยกระบวนการพิจารณาคดีนับแต่กุมภาพันธ์ 2558 เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผ่านมาจำเลยเคยร้องแย้งกรณีโจทก์ยื่นบัญชีพยานเอกสารเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ที่ไม่เคยมีในรายงานและสำนวนของป.ป.ช. ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณายกคำร้อง

แต่ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว ใน ม.235 ตอนท้ายระบุกระบวนการพิจารณาให้ใช้สำนวนป.ป.ช.เป็นหลัก จึงยื่นคำร้องโต้แย้งการพิจารณาคดีของศาลว่าเป็นการขัดแย้ง ไม่เป็นไปตาม ม.235 วรรคหก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ขอให้ศาล ฎีกาฯ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งองค์คณะตุลาการฯ รับคำร้องไว้พิจารณา เพื่อมีคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ ว่าจะส่งหรือไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

คำร้องนี้ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ผู้ตีแผ่และเกาะติดคดีรับจำนำข้าวมาแต่ต้น ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นความพยายามใช้เทคนิคทางกฎหมายทุกรูปแบบเพื่อยืดคดีออกไป ยิ่งใกล้วันพิพากษา มีการใช้โซเชียลมีเดียนำข้อมูลฝ่ายพยานจำเลยมาเผยแพร่ โดยไม่นำข้อมูลอัยการที่หักล้างมาเทียบ สร้างความรู้สึกว่าข้อมูลจากพยานฝ่ายตนสามารถชี้แจงได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด รวมถึงการระดมมวลชนวันที่ 21 กรกฎาคม และวันพิพากษาคดี อ้างมาให้กำลังใจ แต่เชื่อว่ามีนัยบางอย่างมากกว่านั้น

++“จนท.-เอกชน”พัน 990 คดี


อีกด้านหนึ่งสำหรับคดีจำนำข้าว ในส่วนการทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้า อยู่ภายใต้การตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มี 990 คดี แบ่งเป็น องค์การคลังสินค้า (อคส.) 720 คดี และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) 270 คดี มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ รวม 139 คน แบ่งเจ้าหน้าที่ อคส. 93 คน และเจ้าหน้าที่ อ.ต.ก. 46 คน มีบริษัทตรวจสอบคุณภาพหรือเซอร์เว-เยอร์ 59 บริษัท และเจ้าของคลัง 231 คน มูลค่าความเสียหายรวม 1.47 แสนล้านบาท

ขณะนี้ ป.ป.ท.ได้เชิญผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและบริษัทเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 211 คดี และจะทยอยเรียกจนครบ จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป จะเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ท.เพื่อชี้มูลความผิดคดีอาญาและแพ่งต่อไป

 

TP16-3278-AB

++เรียกชดใช้จำนำข้าวกราวรูด


ด้านความรับผิดทางแพ่งและการเรียกชดใช้ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวนั้น ทั้ง 2 คดีคืบหน้าเป็นลำดับ โดยในส่วนของนักการเมืองและข้าราชการนั้น รัฐบาลเลือกใช้การออกคำสั่งทาง ปกครองเรียกสินไหมทดแทนตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แจ้งเป็นรายตัวให้ชดใช้ความเสียหายแล้ว

ในรายของนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น มีหนังสือกระทรวงการคลัง ที่กค.0201/ล.2560 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 สรุปว่าให้ชดใช้ความเสียหายโครง การรับจำนำข้าว 3.57 หมื่นล้านบาท หรือ 20% ของมูลค่าความเสียหายรวม 1.78 แสนล้านบาทของโครงการรับจำนำข้าว 2 ฤดูกาลผลิต อีก 80% ที่เหลือให้ติดตามไล่เบี้ยจากผู้เกี่ยวข้องกลุ่มอื่นๆ


คดีระบายข้าวจีทูจีในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ 6 ราย ถูกเรียกชดใช้ความเสียหายเช่นกัน คือ 1.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ 1.7 พันล้านบาท 2.นายภูมิสาระผล 2.3 พันล้านบาท 3.น.พ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ 4 พัน ล้านบาท 4.นายมนัส สร้อยพลอย 4 พันล้านบาท 5.นายทิฆัมพร นาทวรทัต 4 พันล้านบาท และ 6.นายอัครพงศ์ ทีปะวัชระ 4 พันล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

แต่ในการติดตามและยึดอายัดทรัพย์นั้นยังมีขั้นตอนดำเนินการ โดยในการสืบทรัพย์เป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลางและกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานต้นเรื่องผู้ได้รับความเสียหาย เมื่อพบว่าเจ้าหน้าที่ผู้ถูกเรียกชดใช้ความเสียหายมีทรัพย์สินรายการใดบ้างให้แจ้งกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานยึดอายัดทรัพย์ต่อไป โดยถึงเวลานี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสืบทรัพย์อยู่

ส่วนจำเลยที่เป็นบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคลนั้น ต้องใช้การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อไป โดยในส่วนของคดีระบายข้าวจีทูจีที่ฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฟ้องศาลให้ปรับด้วยวงเงินกว่า 3.527 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร และเครือข่ายที่เป็นจำเลยร่วมในคดีระบายข้าวจีทูจี ระหว่างถูกดำเนินคดีในศาลฎีกาฯนั้น สำนัก งานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์เป็นระลอกแล้ว 7 ครั้ง รวมเป็นทรัพย์สิน 1,806 รายการ มูลค่า 1.292 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าทรัพย์สินที่เชื่อว่าได้ไปจากการกระทำผิด 3.8 หมื่นล้านบาท และยังติดตามทรัพย์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ

ขณะที่ตัวนายอภิชาติ ถูกศาลสั่งจำคุก 6 ปี ในคดียักยอกข้าวกระทรวงพาณิชย์ส่งขายอิหร่าน สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ปรับ 12,000 บาท และให้ชดใช้เงินอีกประมาณ 200 ล้านบาท

ผลของคดีรับจำนำข้าวทั้งทางแพ่งและอาญา กำลังลามไหม้ใกล้ถึงคนที่เกี่ยวข้องเข้าไปทุกทีแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

related