svasdssvasds

สปท. ถก "ปฏิรูปงบตำรวจ"  

สปท. ถก "ปฏิรูปงบตำรวจ"  

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

วันที่ 18 ก.ค. 60- การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันนี้(18 ก.ค.) ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.เป็นประธานการประชุม พิจารณารายงานการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่องการปฏิรูประบบงบประมาณกิจการตำรวจเพื่อยกระดับความปลอดภัยของประชาชน 

โดย พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองประธานกรรมาธิการฯ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการตำรวจ ชี้แจงว่า เป็นที่น่าภูมิใจที่รัฐบาลปัจจุบันโดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มองเห็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การปฏิรูปตำรวจ ต้องเน้นการดูแลตำรวจและให้ตำรวจภาคภูมิใจว่าทำหน้าที่เพื่อประชาชน ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯพบว่า ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณของตำรวจเกิดขึ้นมานาน ส่วนหนึ่งเกิดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพราะในอดีตผู้บริหารในพื้นที่มักไม่สนใจเรื่องการแสวงหาแหล่งงบประมาณที่ถูกต้องเพื่อนำมาใช้จ่าย ที่ผ่านมาจึงได้รับงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องปฏิรูประบบการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณของตำรวจใหม่ โดยให้มีการวิเคราะห์เหตุผลความจำเป็น ความต้องการใหม่หมดทุกรายการ (Zero Base) 

สปท. ถก "ปฏิรูปงบตำรวจ"  

โดยให้ สตช.วิเคราะห์และจัดทำต้นทุนหน่วยปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติงานทุกหน่วยในสังกัดขึ้นใหม่ทั้งหมดอย่างละเอียดถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือการจัดทำต้นทุนหน่วยปฏิบัติงานของสำนักงบประมาณ ซึ่งจะต้องประกอบด้วย กรอบอัตรากำลังพล กรอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน กรอบการจัดหาครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น โดยต้องวิเคราะห์ทบทวนยุทธวิธีตำรวจ ระบบงานและการจัดกำลังใหม่ทั้งหมด เนื่องจากแต่เดิม ยุทธวิธีตำรวจและการจัดกำลังของสถานีตำรวจได้จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2533 แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น สายตรวจตำบลเดิมกำหนดให้ 2 ตำบลเป็น 1 เขตตรวจ ใน 1 เขตตรวจจัดกำลังตำรวจรับผิดชอบ 4 นาย การจัดเช่นนี้ จะยังสามารถปฏิบัติงานได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันค่าเฉลี่ยจำนวนประชากรในเขตตรวจตำบลจะอยู่ที่ 13,780 คน กำลังตำรวจ 4 คนจะสามารถดูแลได้หรือไม่ หรือ กรณีเขตตรวจชุมชนที่กำหนดให้ประชาชน 4,000 คน เป็น 1 เขตตรวจจะยังเหมาะสมอยู่หรือไม่ หากในตึกสูงมีประชาชนอยู่อาศัยครบ 4,000 คนแล้ว จะแบ่งเขตตรวจอย่างไร 

ดังนั้น ทุกหน่วยงานใน สตช.ควรวิเคราะห์ทบทวนยุทธวิธีตำรวจ ระบบงานและการจัดกำลังใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ ต้องวิเคราะห์ทบทวนกำหนดจำนวนกำลังพลที่ถูกต้องเหมาะสม กำหนดเกณฑ์การวิเคราะห์ใหม่ให้เหมาะสมกับลักษณะงาน เช่น การวิเคราะห์ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์สายตรวจ ซึ่งลักษณะงานสายตรวจ จำเป็นต้องเคลื่อนตัวตลอดเวลาและเข้าถึงที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็ว ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นอุปกรณ์สำคัญ แต่เกณฑ์ทั่วไปสำนักงบประมาณ ได้จัดสรรให้คันละ 50,500 บาทต่อปี คิดเป็นเดือนละ 4,208 บาทหรือวันละ 140 บาท รถยนต์สายตรวจ 1 คัน ทำงานวันละ 3 ผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง ดังนั้น ใน 1 ผลัด 8 ชั่วโมง มีงบประมาณค่าน้ำมัน 47 บาท หรือคิดเป็นน้ำมันได้ 1.5 ลิตร สำหรับการตรวจ 8 ชั่วโมง เช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์ เกณฑ์ทั่วไปสำนักงบประมาณจัดสรรให้คันละ 4,000 บาทต่อปี หรือคิดเป็นเดือนละ 333 บาท วันละ 11 บาทสำหรับการทำงาน 8 ชั่วโมง ซึ่งหากใช้เกณฑ์ทั่วไปจัดสรรน้ำมันเชื้อเพลิง จะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ดังนั้น ควรศึกษาเพื่อกำหนดเกณฑ์การวิเคราะห์ความต้องการอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทุกประเภทและเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเรื่องต่างๆทุกรายการใหม่ เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์สายตรวจ ควรใช้ระยะทางที่สายตรวจแต่ละเขตจะต้องเคลื่อนตัวในรอบ 1 ปีมาคำนวณเป็นความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิง 

นอกจากนี้ เสนอให้จัดสรรเงินงบประมาณค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาให้ครบถ้วนตามจำนวนคดีที่เกิดขึ้นจริง โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาในแต่ละปีให้เต็มจำนวนที่พนักงานสอบสวนขอเบิกจ่ายในแต่ละปีโดยไม่ให้มียอดค้างชำระไปในปีงบประมาณถัดไป สำหรับในส่วนของยอดเบิกจ่ายที่ยังค้างชำระในแต่ละปี ให้สำนักงบประมาณจัดงบประมาณเพื่อชำระคืนให้กับพนักงานสอบสวนให้เต็มจำนวนที่ยังคงค้างชำระ ทั้งนี้ อัตราค่าใช้จ่ายในแต่ละคดีที่กำหนดในระเบียบกระทรวงการคลังไม่เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ดังนั้น กระทรวงการคลังและ สตช.ควรร่วมพิจารณาปรับอัตราค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับปัจจุบัน รวมทั้งพิจารณากำหนดประเภทและอัตราค่าใช้จ่ายของคดีที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ให้สามารถเบิกจ่ายได้เพิ่มเติมจากระเบียบเดิมให้เหมาะสมกับความเป็นจริง 

ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้ปรับค่าตอบแทนให้ข้าราชการตำรวจ โดยเงินเดือนให้ยึดตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และให้เพิ่มเงินประจำตำแหน่งสำหรับความเหนื่อยของแต่ละตำแหน่งตามจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานเวลาการทำงานของข้าราชการพลเรือนสามัญ เพิ่มเงินประจำตำแหน่งสำหรับตำแหน่งที่มีความเสี่ยงภัย เนื่องจากตำรวจมีความเสี่ยงมากกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญ 13.56-22.57 เท่า และต่างประเทศมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนของข้าราชการตำรวจเปรียบเทียบกับข้าราชการพลเรือนสามัญเฉลี่ย 1.28-1.74 เท่า 

ดังนั้น จึงควรใช้เกณฑ์นี้กับตำรวจไทย นอกจากนี้ ควรปรับเงินประจำตำแหน่งพนักงานสอบสวนในสังกัด สตช.ให้เท่าเทียมกับพนักงานสอบสวนในหน่วยงานอื่นๆอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อดำรงตนได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถไปหารายได้อื่น ทั้งนี้ เสนอให้ใช้ระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานแก่ตำแหน่งพนักงานสอบสวน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างแรงจูงใจในการทำงาน แก้ปัญหาพนักงานสอบสวนหนีงาน ปฏิเสธไม่รับคดีและปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

related