svasdssvasds

'กสิกรไทย' ชี้ ธปท. คุมรูดปื๊ด! ฉุดรายได้กลุ่มแบงก์ ไตรมาสละ500ล้าน

'กสิกรไทย' ชี้ ธปท. คุมรูดปื๊ด! ฉุดรายได้กลุ่มแบงก์ ไตรมาสละ500ล้าน

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเกณฑ์ให้สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตใหม่ที่มุ่งคุมหนี้กลุ่ม GEN-Y ฉุดรายได้กลุ่มธนาคารลดลงไตรมาสละ 500 ล้านบาท ขณะที่ข้อดีทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนลดลง

วันนี้ (26 ก.ค. 60) - นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรม การผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เกณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตใหม่ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมประกาศออกมา คาดเงื่อนไขเบื้องต้น จะจำกัดวงเงิน สินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีรายได้ 15,000-30,000 บาทต่อเดือน จาก 5 เท่าของรายได้ เป็นไม่เกิน 1.5 เท่าต่อสถาบันการเงิน รวมทุกสถาบันการเงินต้องไม่เกิน 4.5 เท่า หรือ ไม่เกิน 3 สถาบันการเงิน คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปีเท่าเดิม

ส่วนบัตรเครดิต เปลี่ยนจากจำกัดวงเงินไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน เป็น รายได้ระดับ 15,000-30,000 บาทต่อเดือน ให้วงเงิน 1.5 เท่า / รายได้ 30,000-50,000 บาท ให้วงเงินไม่เกิน 3 เท่า และ เกิน 50,000 บาทขึ้นไป ให้ 5 เท่า พร้อมกับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาร้อยละ 2 ต่อปีจากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ร้อยละ 20

ทั้งนี้จากการสำรวจความเห็นลูกค้าธนาคาร โดยเฉพาะกลุ่ม GEN-Y ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล พบว่าร้อยละ 70 ไม่กระทบเพราะมองว่าโดยปกติไม่ได้ใช้เงินเกินวงเงินที่ธนาคารให้อยู่แล้ว ส่วนอีกร้อยละ 30 ที่ใช้วงเงินเกิน ระบุจะดูแลการใช้จ่ายให้เหมาะสมในอนาคต นอกจากนี้ ที่ผ่านมาแม้เกณฑ์เดิมจะให้วงเงินผู้ถือบัตรเครดิต และ สินเชื่อบุคคล 5 เท่า แต่พบว่าวงเงินที่แต่ละธนาคารอนุมัติจริงยังพิจารณาให้ลูกค้าแต่ละรายต่างกันโดยเฉพาะลูกค้ารายใหม่

เกณฑ์ใหม่ ยังทำให้ระดับหนี้ภาคครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ลดลง จากปัจจุบัน NPL บัตรเครดิตสูงอันดับ 1 ซึ่งไตรมาสแรกมีสัดส่วนร้อยละ 4 ของสินเชื่อรวม สูงกว่า NPL สินเชื่อบ้านที่ร้อยละ 3.2 และ NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 2.8

ส่วนผลต่อการเติบโตของสินเชื่อและรายได้กลุ่มธนาคาร จะเห็นผลกระทบชัดเจนในระยะปานกลาง หรือ ปีหน้า เป็นต้นไป ส่วนปีนี้ยังกระทบไม่มาก คาดว่าการเติบโตของบัตรเครดิตทั้งระบบอยู่ที่ร้อยละ 7 ส่วนสินเชื่อบุคคลปีนี้ขยายตัวร้อยละ 1 และสินเชื่อรวมทั้งระบบขยายตัวร้อยละ 4 เทียบกับที่เคยมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 6-7

หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงอีกร้อยละ 2 คาดว่ารายได้ของกลุ่มธนาคารจะหายไปอย่างน้อย 500 ล้านบาทต่อไตรมาส ทั้งนี้จะเห็นการปรับตัวลดต้นทุน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ ในรูปของฟินเทค โมบายแบงก์กิ้ง และแอปพลิเคชัน

สำหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาสแรกปี นี้อยู่ที่ระดับร้อยละ 78.6 ต่อจีดีพี หรือ 11.4 ล้านล้านบาท เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์ระวังการปล่อยกู้ และฐานจีดีพีสูงขึ้น ส่วนแนวโน้มสิ้นปีนี้ คาดขยับลงติดต่อกันปีที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 78.5 ภายใต้เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 3.3

วันพรุ่งนี้ ผู้เกี่ยวข้องในภาคการเงินเฝ้าจับตา การแถลงมาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของธนาคารแห่งประเทศไทย

related