สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดทำความเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 14 ประเด็น ส่งถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก่อน ครม. รุมพิจารณาในวันที่ 15 ก.ย. นี้
วันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ในวันที่ 15 ก.ย. นี้ จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ที่ผ่านมามีการหารือเป็นภายในเพื่อหาข้อสรุปมาแล้วหลายครั้ง ทั้งนี้ หาก ครม.เห็นชอบ จะส่งเรื่องที่รัฐสภาทันที ซึ่งคาดว่าจะบรรจุได้ช่วงการเปิดสภาสมัยหน้าเดือน พ.ย.นี้
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2563 ทาง สตช.ได้จัดทำเอกสาร ที่ ตช.0011.14 / 1697 ให้ความเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ รวม 14 ประเด็น ส่งมาให้ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย
1.เรื่องอำนาจหน้าที่ของ สตช.ไม่เห็นด้วยและเป็นการตรากฎหมายที่เกินความจำเป็น ในการกำหนดให้อำนาจหน้าที่ตำรวจ ที่ระบุไม่ให้เป็นการตัดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการจัดจราจรในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.เรื่องการจัดระบบบริหารและการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้องค์กรส่วนท้องถิ่นจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับสถานีตำรวจเท่านั้น เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในแต่ละพื้นที่ยังมีหน่วยงานระดับกองบัญชาการและกองบังคับการในแต่ละภาคและจังหวัด
3.เรื่องการกำหนดให้มีข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศ ไม่เห็นด้วยและไม่ควรกำหนดไว้เป็น พ.ร.บ.โดยควรจะกำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรอง ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นตามสภาวะการมากกว่า และเห็นว่าเรื่องการให้ยศเป็นสิ่งจูงใจที่สำคัญ ดังนั้นควรพิจารณาเป็นกรณีๆไป ว่า หน้าที่ใดควรจะเป็นข้าราชการตำรวจ หรือหน้าที่ใด ไม่ควรมียศ
4.เรื่องการจัดระเบียบราชการในสตช. ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดแบ่งส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดและกรุงเทพมหานคร เป็นกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด กองบังคับการตำรวจนครบาลและสถานีตำรวจไว้ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ตลอดจนการกำหนดอัตรากำลังของส่วนราชการที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการไว้ด้วย ทั้งนี่ เนื่องจากตำแหน่งข้าราชการตำรวจในส่วนข้าราชการจะมีคุณสมบัติ ตำแหน่ง จำนวนเท่าใด จะเป็นไปตามที่คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะองค์กรบริหารงานบุคคลของสตช.จะเป็นผู้พิจารณากำหนด
นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยกับการ “กำหนดให้ ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพจะตราพระราชกฤษฎีกาให้มีสถานีตำรวจ ที่มีหัวหน้าสถานีตำรวจดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้กำกับการได้” ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดตั้งสถานีตำรวจตลอดจนกำหนดพื้นที่และเขตอำนาจของสถานีตำรวจมีลักษณะเป็นการดำเนินการเพื่อประสิทธิภาพและดูแลความสงบเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยของประชาชนในแต่ละพื้นที่ซึ่งควรเป็นหน้าที่และอำนาจขององค์กรบริหารงานบุคคล คือคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาและการจัดตั้งสถานีตำรวจที่มีหัวหน้าสถานีต่ำกว่าผู้กำกับการไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
5.เรื่องคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ไม่เห็นด้วยกับองค์ประกอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติเนื่องจากงานด้านการบริหารงานบุคคลและงานด้านนโยบายมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่าง และกฎหมายปัจจุบันได้กำหนดให้การบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบงานด้านนโยบายและคณะกรรมการข้าราชการตำรวจรับผิดชอบงานด้านบริหารงานบุคคล ซึ่งทั้ง 2 องค์กรแยกจากกันเป็นประโยชน์ต่องานของสตช.
ดังนั้น หากยกเลิกคณะกรรมการนโบยายตำรวจแห่งชาติตามข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ)ที่มี พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน จะส่งผลให้คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามงาน (กต.ตร.)ถูกยุบไปด้วย ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญสำหรับงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนและตำรวจในชุมชน
จากเหตุผลที่ยังให้คงคณะกรรมการข้าราชการตำรวจและคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติไว้ตามเดิม จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจในฐานะองค์กรด้านการบริหารงานบุคคลโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นเลขานุการ
6.คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ(ก.พ.ค.ตร.) ไม่เห็นด้วยกับองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เนื่องจากบุคคลที่เป็นกรรมการส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอกหรือไม่ใช่ผู้ที่เคยรับราชการตำรวจ การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์อาจจะขาดความเข้าใจลักษณะงานของตำรวจซึ่งจะส่งผลต่อความเป็นธรรมทั้งในส่วนของข้าราชการตำรวจและผู้บังคับบัญชา ผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย
7.เรื่องคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ(ก.ร.ตร.) ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการต้องการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และสำนักงานป้องกันละปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) หรือหน่วยงานอื่น เช่นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่จะเข้ามารับผิดชอบทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงาน และมีโครงสร้างไปถึงระดับพื้นที่ อีกทั้งในส่วนของการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะมีการตรวจสอบภายในจากสำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตรวจสอบภายในไว้อยู่แล้ว การจะให้มีคณะกรรมการดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอีกจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและไม่น่าจะสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ
8.เรื่องการกำหนดคุณสมบัติรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควรเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติในฐานะองค์กรด้านบริหารงานบุคคล ซึ่งเป็นไปด้วยความเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับทางราชการ
9.เรื่องการกำหนดตำแหน่งแยกสายงานสอบสวนโดยเฉพาะ ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดลักษณะสายงานของตำแหน่งข้าราชการตำรวจอยู่ในกฏหมาย เนื่องจากเป็นเรื่องรายละเอียดที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์ จึงควรให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติในฐานะองค์กรด้านบริหารงานบุคคลของตำรวจ
ไม่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจผู้บัญชาการสอบสวน และผู้บังคับการสอบสวน จากงานด้านการสอบสวนภายในกองบัญชาการและกองบังคับการ อกทั้งไม่เห็นด้วยเรื่องการกำหนดให้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจสายงานหนึ่งไปดำรงตำแหน่งีกสายงานหนึ่งไม่ได้ เพราะเป็นการจำกัดความเจริญเติบโตของตำรวจแต่ละสายงาน
10.เรื่องกองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญา ไม่เห็นด้วยกับการตัดผู้แทนกรมบัญชีกลางออกจากการเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนเพื่อกาสอบสวนและสอบสวนคดีอาญา
11.เรื่องการดำเนินการตามบทเฉพาะการของร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ไม่เห็นด้วย กับการยกเลิกบางส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติและโอนย้ายภารกิจบางส่วนไปให้ส่วนราชการอื่นเพราะภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามที่ระบุในร่างกฎหมายคือการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา รวมถึงเป็นหน่วยงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเฉพาะทางจึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านดำเนินการ
อาทิ กองบังคับการตำรวจรถไฟ และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานด้านดังกล่าว ส่วนราชการที่รับโอนภารกิจจะต้องมีความชำนาญ มีความพร้อม ดังนั้น ควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง การยุบหรือโอนภารกิจดังกล่าวเพื่อนำอัตรากำลังไปจัดสรรให้สถานีตำรวจก็ยังไม่เพียงพอทั้งที่มีการบูรนาการณ์การปฏิบัติงานทุกหน้าในสถานีตำรวจอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วย กับการห้ามจัดตั้งส่วนราชการ หรือหน่วยงานขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้การจัดโครงสร้างส่วนราชการ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาวการณ์ สภาพเศรษฐกิจและสังคม การห้ามจัดตั้งส่วนราชการใหม่ จะทำให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สามารถจัดโครงสร้างส่วนราชการเพื่อรองรับการแก้ปัญหาด้านอาชญากรรมตลอดจนความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยของประชาชน
12.เรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญ ไม่เห็นด้วย กับการให้คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติกำหนดกำให้การรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญซึ่งไม่ใช่พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยควรเป็นไปตามสถานการณ์ในแต่ละกรณี และควรเป็นดุลยพินิจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้บังคับบัญชาและมีหน้าที่ควบคุมราชการประจำของสำหนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม
13.เรื่องการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไม่เห็นด้วย เกี่ยวกับสิทธิในการเลือกตำแหน่งเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจหรือผู้สอบคัดเลือกหรือแข่งขันได้มากำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.ตำรวจ
14.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ไม่เห็นด้วย กับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่สารวัตรถึงจเรตำรวจและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีการกำหนดระยะเวลาการครองตำแหน่งแต่ละระดับไว้ ทั้งนี้เห็นว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติที่เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของหน่วยงาน ซึ่งมีกฎระเบียบการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าาชการตำรวจอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วย กับการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประเมินเพื่อประกับการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจโดยเฉพาะกับการกำหนดค่าคะแนนประเมินผู้ดำรงตำแหน่งนานที่สุดได้รับคะแนนสูงกว่าการประเมินในหัวข้ออื่น เพราะไม่สะท้อนความรู้ความสามารถที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการประเมินในรูปแบบใดให้เกิดความน่าเชื่อถือ ควรให้คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติวางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในเรื่องนี้ รวมถึงเรื่อง หลักเกณฑ์การจัดชั้นสถานีตำรวจ
นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยอีกหลายเรื่อง ทั้ง ในเรื่องการประเมินความพึงพอใจชองประชาชนเพื่อใช้เป็นคะแนนในการพิจารณาแต่งตั้งเพราะเป็นการไม่ได้พิจารณาจากการทำงานของข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย
ไม่เห็นด้วย กับการกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งของข้าราชการตำรวจในสายงานสอบสวน เพื่อเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไว้เป็นกฎหมาย ทั้งนี้ควรเป็นไปตามสภาพข้อเท็จจริงในการบริหารงานของบุคคลแต่ละส่วนราชการและควรเป็นอำนาจของข้าราชการตำรวจแห่งชาติ
ไม่เห็นด้วย กับการเลื่อนตำแหน่งผู้กำกับการสอบสวนให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการสอบสวนเนื่องจากจะทำให้เกิดความลักลั่นในเรื่องความเจริญก้าวหน้ากับข้าราชการตำรวจสายงานอื่น
ไม่เห็นด้วย กับการกำหนดให้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองสารวัตร สารวัตร รองผู้กำกับการ ผู้กำกับการและรองผู้บังคับการไปดำรงตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกันในสายงานเดียวกัน
ทั้งนี้ ต้องแจ้งเหตุผลให้ชัดเจนต่อผู้รับการแต่งตั้งทราบเป็นลายลักอักษร รวมถึงการแต่งตั้งผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือประพฤติตนไม่เหมาะสม ที่จะต้องถูกแต่งตั้งไปให้ดำรงตำแหน่งประจำในฝ่ายอำนวยการที่สังกัดอยู่หรือกองบัญชาการอื่นหรือฝ่ายอำนวยการของสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควรเป็นอำนาจทางปกครองโดยกำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดให้ออกจากราชการไว้ก่อนหรือพักราชการ ไม่ควรให้มีการแต่งตั้งโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งในฝ่ายอำนวยการ ไม่เพียงแต่งจะแก้ปัญหาแต่จะเป็นปัญหาในการปฏิบัติราชการ
และไม่เห็นด้วย กับการกำหนดให้แต่งตั้งข้าราชการในตำแหน่งสายงานใด จะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับสายงานนั้น ทั้งนี้เป็นการปิดกั้นการเรียนรู้สายงานต่างๆของข้าราชการตำรวจที่จะเติบโตเป็นผู้บริหาร จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีความรู้ลักษณะงานที่มีความหลากหลายเพื่อให้การบริหารหน่วยมีประสิทธิภาพ