svasdssvasds

เกม(การเมือง)กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

เกม(การเมือง)กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

เกมในแต่ละยุคก็มีกลิ่นอายเป็นของตัวเอง เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เฉกเช่นเดียวกับคนที่ในแต่ละเจนต่างก็มีประสบการณ์แนวคิดที่ไม่เหมือนกัน คนเปลี่ยนตามเกม เกมเปลี่ยนตามคน

เกม(การเมือง)กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

เกมในแต่ละยุคสมัยก็มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ยุคหนึ่งคนเล่นบอร์ดเกมง่ายๆ อย่างหมากรุก ปรับเปลี่ยนมาเป็นการ์ดเกม แล้วก็เริ่มเข้าสู่การที่เป็นเกมที่อาศัยเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ประเดิมด้วยเกม Pong ด้วยรูปแบบเกมง่ายๆ ที่ลักษณะคล้ายกับการตีปิงปอง แต่แล้วเกมก็เริ่มมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงในยุคที่เกมถูกจัดเป็นกีฬามีการแข่งขัน มีเงินรางวัล เป็นจริงเป็นจัง หรือ ที่คุ้นเคยกันในคำว่า E-Sports

เกม(การเมือง)กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

E-Sports ในทุกวันนี้มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น RTS (Real-Time Strategy) , FPS (First-Person Shooter) , MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) , Sports , หรือ Survival ก็ล้วนแล้วแต่มีจุดมุ่งหมายเดียว คือการเอาชนะผู้เล่นอีกฝั่งด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ต่างกับเกมกระดาน หรือ เกมไพ่ในสมัยก่อน

เพียงแต่วิธีการคิดอาจเปลี่ยนไปตามแต่ละเกม ตามแต่ละรูปแบบ คนในสมัยก่อนที่เล่นหมากรุก หรืออ่านสามก๊ก หรือแม้แต่ตำราพิชัยสงคราม ส่วนมากคือเน้นไปที่ "แม่ทัพ" ซึ่งคือ "ตัวขุน" หากโค่นขุนได้ ทุกอย่างก็จบ ซึ่งตรงนี้มีรูปแบบอำนาจแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าไว้ด้วยกัน ทุกการสั่งการจึงต้องมาจากเบื้องบนผู้มีอำนาจสูงสุด เมื่อไม่มีคนสั่ง ทุกคนก็แตกกัน ระส่ำระสาย ไม่รู้ว่าจะเดินไปต่อในทิศทางใดดี

เกม(การเมือง)กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

แตกต่างกับเด็กสมัยใหม่โดยสิ้นเชิง ที่ใช้รูปแบบกระจายอำนาจ จากตอนแรกที่ใช้คำประกาศว่า "คณะราษฎร" ตอนนี้เมื่อเหล่าแกนนำถูกจับตัว ก็เปลี่ยนมาใช้คำว่า "ราษฎร" เพียงอย่างเดียว พร้อมกับสโลแกนที่ว่า "ทุกคนคือแกนนำ" เป็นรูปแบบที่ใช้การกระจายอำนาจที่ชัดเจน เป็นการให้สิทธิ์ให้เสียงกับทุกคนทุกฝ่าย

หากเปรียบเทียบไปแล้วในเข้าใจในเกมกระดานหมากรุก รูปแบบของม็อบ มีความใกล้เคียงที่สุดน่าจะคล้ายกับ "ตัวม้า" ที่มีอิสระในการเดิน แม้จะมีรูปแบบหรือแพทเทิร์นในการเดินอยู่บ้าง แต่ก็อิสระที่จะกระโดดไปมาที่ไหนก็ได้ ทว่ารูปแบบของม็อบในปัจจุบันนี้มีอิสระที่มากกว่าตัวม้าเสียอีก และไร้แบบแผน เนื่องจากไม่มีกรอบกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ มาครอบคลุม มีเพียงสิ่งเดียวคือ อุดมการณ์ที่เหมือนกัน

ซึ่งขุนของม็อบหาใช่แกนนำ หรือ ทีมงานนักศึกษาที่ออกมาจัดแจงไม่ หากแต่เป็นอุดมการณ์ เป็นนามธรรมที่ไม่อาจจับเข้าคุกได้ และมีการแพร่ขยายความคิด ผ่านการปลูกฝังด้วยช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ และเมื่อยิ่งจับตัวแกนนำม็อบ ความคิดที่ว่าก็ยิ่งแตกตัวคล้ายกับไฮดรา เมื่อตัดหนึ่งหัว จะงอกใหม่อีกสองหัว เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถจัดการกับม็อบด้วยการจับตัวแกนนำได้ เพราะนั่นมิใช่ขุน

ยกตัวอย่างกรณีเกมที่คนรุ่นใหม่เล่น แนวเกม MOBA ที่แต่ละคนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง โดยเป้าหมายมีเพียงหนึ่งเดียว คือเข้าไปตีป้อมใหญ่ให้แตก การเสียสละตัวเองเพื่อปกป้องป้อมฝั่งตนหรือเข้าไปตีป้อมฝั่งตรงข้ามให้สำเร็จก็ย่อมได้ ไม่มีตัวละครตัวใดสำคัญที่สุด มีเพียงจุดมุ่งหมายเท่านั้น นั่นจึงเหตุว่าทำไมแกนนำม็อบถึงยอมให้ถูกจับได้ เพราะเป็นเหมือนการตอกและย้ำว่าเหตุใดประชาชนจึงต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องในสิทธิของตน

เกม(การเมือง)กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ทางออกเดียวของเหตุขัดแย้งในครั้งนี้ คงถึงเวลาที่รัฐ หรือ ใครสักคนออกมาเปิดเวที รับฟังอย่างจริงใจและตั้งใจว่า ม็อบต้องการสิ่งใด รัฐจะสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัยได้มากเพียงใด จึงจะเป็นทางออกอย่าง "สันติ" และ "ยั่งยืน" 

related