svasdssvasds

สรุปท่าทีรัฐบาล จากการประชุมสภาวิสามัญ

สรุปท่าทีรัฐบาล จากการประชุมสภาวิสามัญ

สรุป 3 ท่าทีสำคัญ ของรัฐบาล หลังการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค. ที่ผ่านมา

สรุปท่าทีรัฐบาล จากการประชุมสภาวิสามัญ

จากการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการอภิปรายของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. เพื่อหาทางออกรวมกัน ซึ่งประเด็นที่ชัดเจนที่สุดในส่วนของพรรคฝ่ายค้าน คือการเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก

เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง ในเบื้องต้นจะสามารถปลดล็อกวิกฤตได้ในระดับหนึ่ง แล้วให้สภาโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ ให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากแก้ไขเสร็จ ก็ให้มีการยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่    

แต่ถ้าสมมติว่า นายกฯ เลือกยุบสภาตั้งแต่ตอนนี้ที่รัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะในมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ได้ ก็จะมีแนวโน้มว่า รัฐบาลใหม่จะออกมาในลูปเดิม

ส่วนท่าทีของ ส.ว. ถ้าจะสรุปความชัดเจน ก็ต้องโฟกัสที่นายกฯ ตามที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ได้กล่าวระหว่างการอภิปรายว่า จากการที่นายกฯ บอกว่า เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้ในส่วน ส.ว. ที่อึมครึมก่อนหน้านี้ ก็มีความชัดเจนแล้วว่า เห็นด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นท่าทีที่ชัดเจนของนายกฯ จึงสะท้อนให้แนวทางของทั้งรัฐบาล และ ส.ว. โดยสรุปออกมาเป็น 3 ข้อ ได้ดังนี้

1. นายกฯ ไม่ลาออก

พล.ประยุทธ์ ได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า “ไม่ลาออก” ทั้งในการกล่าวปิดประชุมสภา สมัยวิสามัญ ในคืนวันที่ 27 ตุลาคม และการแถลงหลังประชุม ครม. ในวันที่ 28 ตุลาคม

โดยให้เหตุผลว่า บ้านเมืองกำลังมีปัญหา ตนจึงจำเป็นต้องอยู่ต่อ เพื่อแก้ปัญหาต่อไป (แม้จะมีบางฝ่ายมองว่า การลาออกของนายกฯ คือการแก้ไขที่ดีที่สุดในเวลานี้ก็ตาม)

2. แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256

ในการประชุมรัฐสภาครั้งนี้ นายกฯ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. กล่าวตรงกันว่า เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะหมายถึงเฉพาะมาตรา 256 เท่านั้น (มาตราที่เปิดช่องให้มีการแก้ไข) ส่วนในมาตราที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ส.ว. ที่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนจาก นายกฯ รัฐบาล และ ส.ว. ว่า เห็นด้วยให้มีการแก้ไขในส่วนนี้หรือไม่ ?

3. ตั้งคณะกรรมการ 7 ฝ่าย หาทางออกประเทศ

การตั้งคณะกรรมการ 7 ฝ่าย เป็นข้อเสนอของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะมีตัวแทนนักศึกษา แกนนำการชุมนุม ร่วมอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย  ต่อมานายกฯ ได้กล่าวว่า เห็นด้วยกับเรื่องนี้

แต่จากการที่ประเด็นนี้ชงโดยพรรคร่วมรัฐบาล และก่อนหน้านี้ หลายรัฐบาลก็มักจะใช้วิธีตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมา เพื่อลดกระแสต่อต้าน จึงถูกตั้งข้อสงสัยว่า การตั้งคณะกรรมการดังกล่าว จะเป็นการซื้อเวลาหรือไม่ ?

related