svasdssvasds

ถอดบทเรียน “สิงคโปร์ โมเดล” กรณีศึกษา โควิดระบาดจากกลุ่มแรงงานต่างด้าว

ถอดบทเรียน “สิงคโปร์ โมเดล” กรณีศึกษา โควิดระบาดจากกลุ่มแรงงานต่างด้าว

สิงคโปร์ เคยประสบปัญหาโควิดระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จนช่วงหนึ่งมียอดผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในอาเซียน แต่ก็สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในเวลาเพียง 4 – 5 เดือน สิงคโปร์ทำได้อย่างไร ? และสามารถประยุกต์วิธีการต่างๆ มาใช้กับสถานการณ์ในไทย ณ ขณะนี้ ได้อย่างไรบ้าง ?

จากกรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากในจังหวัดสมุทรสาคร ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมานั้น ก็ส่งผลให้ไทยเข้าสู่การระบาดครั้งใหม่ หลังจากที่สามารถควบคุมสถานการณ์ จนประชาชนใช้ชีวิตได้เกือบเป็นปกติ มานานหลายเดือน

การระบาดรอบนี้จะส่งผลอย่างไรบ้าง เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป โดยก่อนหน้านี้ สิงคโปร์ หนึ่งในประเทศกลุ่มอาเซียน ก็เคยประสบปัญหานี้มาแล้ว แต่ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แม้ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงถึง 58,432 ราย (ข้อมูลจาก worldometers วันที่ 22 ธันวาคม) แต่หลังจากควบคุมสถานการณ์ได้ ยอดผู้ป่วยในแต่ละวัน ก็ลดต่ำลงมาก บางวันอยู่ที่หลักหน่วย หลักสิบ หรือไม่มีด้วยซ้ำ

สิงคโปร์ ทำได้อย่างไร ? แล้วไทยเราล่ะ จะนำวิธีของสิงคโปร์ มาประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง และนี่คือข้อมูลที่สปริงนำมาเล่าสู่กัน เพื่อให้เห็นทั้งความเหมือน ความแตกต่าง ความเป็นไปได้ และข้อจำกัด ดังต่อไปนี้

1. ประเทศสิงคโปร์มีแรงงานต่างด้าวกว่า 3 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากอินเดีย บังคลาเทศ และจีน มีจัดระเบียบที่พักอย่างเป็นสัดส่วน โดยกลุ่มแรงงานข้ามชาติจะอาศัยในหอพัก 43 แห่ง และอยู่นอกเขตชุมชน แต่ความเป็นอยู่ค่อนข้างแออัด ห้องหนึ่งมีผู้อาศัยเฉลี่ยที่ 12 คน หรือบางห้องถึง 20 คนเลยเชียว

ด้วยความเป็นอยู่ที่แออัด ทำให้การแพร่ระบาดภายในกลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยการจัดระเบียบที่พักไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดการระบาดขึ้น เจ้าหน้าที่ก็สามารถจำกัดวงได้อย่างทันท่วงที ดังจะเห็นได้จากสถิติการติดเชื้อสะสม 58,432 ราย ในจำนวนนี้เป็นแรงงานข้ามชาติ 54,505 ราย คิดเป็น 93 % ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในสิงคโปร์

2. สิงคโปร์ เริ่มพบการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และได้ประกาศล็อกดาวน์พื้นที่ทันที ใช้วิธีตรวจแบบปูพรม แยกกลุ่มผู้ติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ ออกจากกันอย่างชัดเจน

โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อ จำกัดพื้นที่ให้อยู่บริเวณหอพัก ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อ ทางรัฐบาลก็ได้หาสถานที่ต่างๆ มารองรับ

3. มีการใส่อุปกรณ์ติดตามกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มที่ทำงานใกล้ชิด จำนวนกว่า 4 แสนราย  

4. จากความแออัดของหอพักแรงงานข้ามชาติ สิงคโปร์จึงมีโครงการสร้างห้องพักเพิ่ม ซึ่งถือว่าเป็นโครงการเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะไม่อาจรู้ได้ว่า สถานการณ์เช่นนี้จะกลับมาเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่

5. ด้วยมาตรการต่างๆ ที่เข้มข้นและเป็นระบบ ทำให้สิงคโปร์ใช้เวลา 4 - 5 เดือน ในการควบคุมโรคระบาดได้สำเร็จ  

 

6. มีการเร่งจัดหาวัคซีน เพื่อใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งล่าสุด วัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ซึ่งถูกพัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์ ในสหรัฐฯ และไบออนเทคในเยอรมนี ลอตแรกถูกส่งมาถึงประเทศสิงคโปร์แล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม สิงคโปร์จึงเป็นชาติแรกในเอเชียที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยแรงงานข้ามชาติจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะได้รับวัคซีน เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

7. ส่วนกรณีของไทย ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการจัดระเบียบที่พักแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นสัดส่วน และที่พักส่วนใหญ่ก็อยู่ในเขตชุมชน ดังนั้นเมื่อมีระบาดจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จึงอาจทำให้เกิดความยากลำบากในการจำกัดการแพร่เชื้อ

8. กลุ่มแรงงานข้ามชาติในสิงคโปร์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในสายงานก่อสร้าง ที่จะอยู่ไซต์งานก่อสร้าง หรือที่พักเป็นหลัก ต่างจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติในสมุทรสาคร ที่ประกอบอาชีพชาวประมง จึงมีโอกาสพบปะผู้คนทั่วๆ ไปในท้องตลาดค่อนข้างสูง ทำให้จำกัดพื้นที่การแพร่เชื้อได้ลำบากขึ้น

9. วัคซีน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดนั้น ไทยได้สั่งจองไปแล้ว แต่กว่าจะได้ใช้ ก็อีกประมาณใน 6 เดือนข้างหน้า  

และทั้งหมดนี้ ก็คือการถอดบทเรียนจาก “สิงคโปร์ โมเดล” เทียบเคียงกับกรณีแรงงานข้ามชาติในไทย ว่ามีโอกาสจะควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้มากหรือน้อยเพียงใด

ข้อมูลจาก ถอดบทเรียน "สิงคโปร์" สกัดโควิดแรงงานต่างด้าว | ข่าวข้นคนข่าว | 21 ธ.ค.63 

 

related