svasdssvasds

คุยกันสไตล์ฮาร์ดคอร์ : ตัวตนและทัศนะของทูตนอกแถว "รัศม์ ชาลีจันทร์"

ทำความรู้จักตัวตนของ “รัศม์ ชาลีจันทร์” ทูตนอกแถว และเจาะลึกถึงแนวความคิดในระดับฮาร์ดคอร์ ที่ไม่ว่าจะเห็นด้วย หรือเห็นต่าง แต่ก็มีเหตุผลให้ต้องรับฟัง และขบคิดตาม

“รัศม์ ชาลีจันทร์” อดีตเอกอัครราชทูต และเจ้าของเพจ ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador เปิดบ้านพักให้สปริงสัมภาษณ์อย่างเจาะลึก ด้วยสไตล์พูดตรง ชัดเจน มีหลักการ ที่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ก็มีเหตุผลให้ต้องรับฟัง และขบคิดตาม ซึ่งเขาได้เริ่มต้นบทสนทนา บอกเล่าความเป็นมาในวัยเด็ก ดังนี้

“ผมเกิดมาในครอบครัวที่อาจไม่เหมือนชาวบ้านเขา ซึ่งตอนเด็กๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่า ครอบครัวเราไม่เหมือนคนอื่น พอคุณพ่อคุณแม่ จบฝรั่งเศส ซึ่งไปเรียนช่วงปลาย 1950 – 1960 ซึ่งผมเกิดแหละนะ ช่วงนั้นเนี่ย ใครที่ไปเรียนฝรั่งเศส ปัญญาชนส่วนใหญ่ เขาจะเป็นพวกซ้าย มีความคิดทางการเมืองที่ออกไปทางแนวซ้าย ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่เราได้รับอิทธิพลมาจากพ่อแม่ เพราะว่า คุณพ่อคุณแม่ก็จะคุยเรื่องการเมือง ก็จะมีทั้งประเด็นต่างประเทศ ทั้งในประเทศ ก็อาจมีส่วนซึมซับ

“แล้วก็การใช้ชีวิตของคุณพ่อคุณแม่ จะไม่ค่อยเหมือนชาวบ้าน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า ตอนนั้นเขาไม่ค่อยเหมือนใคร ผมจำได้อายุสักห้าหกขวบ ก็เรียนอยู่ ประมาณบ่ายโมงบ่ายสอง คุณแม่ก็ไปรับที่โรงเรียน ก็ไปรับผม พี่ชาย และก็น้องสาว 3 คน

“โรงเรียนก็ประกาศ เด็กชายรัศม์ คุณแม่มารับ เราก็ไป คุณแม่พาไปไหนรู้ไหม แม่พาไปดูหนังที่เฉลิมไทย The Beatles : A Hard Day's Night เราก็ไม่ได้รู้เรื่อง แต่ก็สนุกดี  ก็โอเค แต่พอเรามาคิดย้อนหลัง มีแม่กี่คน ที่ลูกเรียนหนังสืออยู่ แล้วพาลูกออกไปดูหนังเนี่ย (หัวเราะ) 

“ครอบครัวเราเปิดเสรีทางความคิด เพราะผมโตมา ผมก็ตั้งคำถามตลอดตั้งแต่เด็กว่า สิ่งนี้มันใช่หรือเปล่า คือผมไม่เคยเชื่ออะไรแค่มีคนมาบอก แค่นี้แล้วก็ยื่นข้อมูลชุดนี้ให้ แล้วต้องเชื่อตามนั้น ไม่ใช่ เราก็จะคิดต่างๆ เสมอ”

คุยกันสไตล์ฮาร์ดคอร์ : ตัวตนและทัศนะของทูตนอกแถว "รัศม์ ชาลีจันทร์"

เขาทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2527 จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ตำแหน่งสุดท้ายคือ เอกอัครราชทูตไทยที่คาซัคสถาน โดยเขาบอกเล่าถึงกระทรวงแห่งนี้ว่า เป็นองค์กรที่มีความหลากหลาย

“กระทรวงการต่างประเทศ เป็นกระทรวงเล็กมาก แทบจะเล็กที่สุดแล้วมั้ง เล็กแต่มีความหลากหลาย ก็มีความเห็นต่างๆ นานา ตั้งแต่ขวาจัด อนุรักษ์นิยมสุดกู่ ไปถึงซ้ายจัดมากๆ คุณอย่าลืมว่า จักรภพ เพ็ญแข นั่นก็กระทรวงต่างประเทศเก่านะ คุณปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นี่ก็กระทรวงต่างประเทศเก่าเหมือนกัน พวกนี้ก็กระทรวงต่างประเทศทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นก็จะมีความคิดที่หลากหลาย

 “แต่ผมว่าข้อหนึ่งที่ดี แม้ว่าผู้ใหญ่ หรือว่าเพื่อนหลายคน หรือคนในกระทรวงจะมีความเป็นอนุรักษ์นิยม บางคนแหละนะ แต่ว่าโดยทั่วไปแล้ว ผมถือว่าค่อนข้างเปิดกว้างนะ เขาจะยังไงก็แล้วแต่ จะฟังไม่ฟังความเห็น แต่ก็ไม่ถึงกับต่อต้าน

“แต่ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะคาแรคเตอร์ผมด้วย หรือเปล่าก็ไม่รู้ ไม่ค่อยมีใครอยากมาตอแยกับผมเท่าไหร่ ก็เพราะเราเป็นคนพูดตรง ถ้าเราเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็จะพูด”

คุยกันสไตล์ฮาร์ดคอร์ : ตัวตนและทัศนะของทูตนอกแถว "รัศม์ ชาลีจันทร์"

เขาได้แสดงทัศนะที่น่าสนใจ เกี่ยวกับลักษณะข้าราชการที่ดี ให้กับทางสปริงว่า

“ผมย้ำเสมอว่า การเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ มันคือเป้าหมายของเรา อย่างกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องคอร์รัปชั่นอะไรพวกนี้ มันจะน้อยมาก มันเป็นวัฒนธรรมองค์กรของเรา

“แล้วจริงๆ แล้ว ในความเห็นของผม ข้าราชการที่ไม่โกงกิน มันไม่ต้องมาพูดกันแล้วว่า คุณไม่โกงกิน เพราะว่ามันยังต้องมาพูดกันอีกเหรอ ว่าข้าราชการต้องไม่โกงกิน

“จริงๆ มันคือควรอยู่ในสามัญสำนึกกันหมดแล้ว คือบอกคุณไม่โกง ไม่ใช่สิ่งที่ควรมาคุยนะ เพราะนั้นคือมาตรฐานต่ำสุดที่คุณต้องทำอยู่แล้ว

“แต่เหนือไปกว่านั้น นอกจากไม่โกงกินแล้ว สิ่งที่สำคัญ คุณต้องซื่อสัตย์กับวิชาชีพของคุณ คุณจะต้องรู้ว่า ในการทำเนี่ย อันไหนคือสิ่งถูก อันไหนคือสิ่งผิด อันไหนคือประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนส่วนใหญ่ คุณควรจะต้องรู้ตรงนี้

“ถ้าสิ่งที่ทำอยู่มันไม่ใช่ คุณต้องกล้าที่จะลุกขึ้นยืน แล้วคัดค้าน มันไม่น่าจะเกิดประโยชน์กับส่วนรวม อันนั้นถึงจะเรียกว่า ข้าราชการที่ซื่อสัตย์แท้จริง ไม่ใช่ใครสั่งอะไรมา คุณก็ทำๆ ไป โดยไม่หือ ไม่อือ

“สำหรับผมเนี่ย ถ้าให้ผมไม่พูดอะไรเลย ก็ได้ ชีวิตเราไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่ว่าสำหรับผม มันสูญเสียความเคารพตัวเองไป ถ้าเราไม่ได้พูดในสิ่งที่เราเชื่อ ถ้าเราไม่ได้คัดค้านในสิ่งที่เราเห็นว่า ไม่ถูกต้องเนี่ย สำหรับผมมันเป็นเรื่องของ Self Respect ความเคารพในตัวเอง ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่า คนเราควรจะต้องมี”

คุยกันสไตล์ฮาร์ดคอร์ : ตัวตนและทัศนะของทูตนอกแถว "รัศม์ ชาลีจันทร์"

และจากกรณีที่ทูต 5 ประเทศใหญ่ ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งสัญญาณอย่างไร ? รวมถึงกรณี 8 ส.ว.สหรัฐฯ ยื่นมติให้วุฒิสภาสหรัฐฯ สนับสนุนการชุมนุมในไทย เขาได้วิเคราะห์ดังต่อไปนี้

“เรื่องทูต 5 ประเทศ เขาไม่ได้พูดถึงการเมืองภายในประเทศเราสักทีเดียว เขาพูดเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งผมมองว่า อันมันก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ปกตินัก แม้ว่าทำได้ ในกรอบ เพราะว่าเขาไม่ได้วิจารณ์ การเมืองภายใน แต่เขาพูดเรื่องเศรษฐกิจเฉยๆ แต่การที่มาตั้งโต๊ะแถลงแล้วน่ะ มันก็ไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว

“เพราะว่าข้อเสนอแบบนี้ ควรเสนอผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงการต่างประเทศ หรือไม่นั้นต้องไปพบท่านนายกฯ หรือรองนายกฯ ก็ว่าไป ที่ดูแลเศรษฐกิจ นั่นคือช่องทางปกติ แต่การที่เขามาตั้งโต๊ะอย่างนั้นเนี่ย ก็ไม่ได้ปกติสักทีเดียว เพราะมันก็สะท้อนว่า ทูตเหล่านั้น ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ๆ สหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เขาไม่มีช่องทางอื่นใดแล้ว เขาก็ต้องเลือกวิธีนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ปกติ

“ถามว่าทำไมเขาถึงไม่มีช่องทางตามปกติล่ะ มันก็แสดงว่าเรามีปัญหาแล้ว มีปัญหาในการติดต่อสื่อสารพูดคุยกับทูตเหล่านี้ ตัวแทนของประเทศเหล่านี้ ถ้ามันไม่มีปัญหา มันก็ต้องไปช่องทางปกติ

“แต่นี่มันคือช่องทางไม่ปกติ แสดงว่ามันต้องมีปัญหาอะไรบางอย่าง ซึ่งมันเกิดจากอะไร น่าจะเกิดจากความไม่อยากฟัง ที่เขาอาจจะมาทวงถามเรื่องความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตย หรือเปล่า

“อันนี้ก็เป็นข้องสังเกตของผม ผมก็ไม่ได้ว่ามันจะต้องถูกต้องนะ เพียงคิดว่ามันน่าจะเกิดจากความที่เราไม่อยากฟังเขา เพราะเห็นหน้าเขาแล้วก็พาลนึกถึงเรื่องประชาธิปไตยในบ้านเรา ซึ่งในแง่หนึ่ง ถ้าประชาธิปไตยเรามันดีสมบูรณ์ ผ่านการเลือกตั้ง อย่างที่บอกเอาไว้ แล้วคุณจะกลัวทำไม

“สำหรับเรื่องทูต 5 ประเทศ ผมไม่เชื่อนะว่า เขาจะมาตั้งโต๊ะแถลงโดยไม่ได้รับไฟเขียวจากเมืองหลวงของเขา ผมเชื่อว่าระดับนั้นน่ะ เขาก็ได้รับไฟเขียวมาแล้ว เพราะว่ามันไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ คือเขาไม่มีทางเลือกแล้ว ช่องทางคุยตีบตัน ก็ต้องออกมาอย่างนั้น

“แต่นี่มันก็เป็นสัญญาณว่า ประเทศต่างๆ เขาจับตาดูเราอยู่ แล้วเขาอยากจะให้เรากลับไปสู่หนทางที่ควรจะเป็น ในสายตาของเขา ซึ่งมันก็ โยงกลับมาที่ ส.ว.สหรัฐ ออกมาพูด พอมีอย่างนี้หลายคนก็บอกว่า โอ๊ย อย่ามายุ่งกับประเทศไทย มันเรื่องของฉัน อะไรอย่างนี้ ซึ่งคนพูดแสดงว่า ไม่เข้าใจ ว่าโลกเขาไปถึงไหนแล้ว สมัยนี้มันไม่มีใครอยู่คนเดียวได้

“ผมก็พูดไปแล้วว่า คุณต้องเข้าใจว่าโลกสมัยนี้ มันต้องพึ่งพากันและกัน คุณจะปิดประเทศ ไม่คบค้าสมาคมกับใครได้หรือ แล้วคุณจะเอาเงินทองมาจากไหน คุณจะอยู่กันอย่างไร ถ้าเราไม่ค้าขายอะไร คบค้าสมาคมกับเขา

“และในการคบค้าสมาคม โลกส่วนใหญ่ ณ ตอนนี้เนี่ย เขาถือแนวทางประชาธิปไตยเป็นหลัก ซึ่งมันก็ไปพันกับการค้าการลงทุนด้วย เพราะมีมันเรื่องโปร่งใสกับตรวจสอบได้ มันพันกันหมด มันไปแนวทางเดียวกัน

“ถามว่าคุณไม่ต้องเอาสิ่งเหล่านี้ได้ไหม ก็ได้ คุณก็เป็นเกาหลีเหนือ ที่นี้เกาหลีเหนือ ก็เป็นอย่างนั้นน่ะ คุณจะเลือกแบบนั้นไหมล่ะ เราจะอยู่กันอย่างนั้นหรือ มันจะสร้างความก้าวหน้า ความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนได้ จริงหรือ

คุยกันสไตล์ฮาร์ดคอร์ : ตัวตนและทัศนะของทูตนอกแถว "รัศม์ ชาลีจันทร์"

และจากข้อสงสัยที่ว่า หากต่อไปไทยถูกกดดันจากประเทศใหญ่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้ การชุมนุมของกลุ่มราษฎร จะสามารถยกระดับได้หรือไม่นั้น ทูตนอกแถวได้กล่าวว่า

“ตราบใดที่สังคมมันไม่มีความเท่าเทียมกัน ที่นั่นมันก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นน่ะ มันก็เป็นปฏิกิริยาปกติ คุณปลูกข้าว คุณก็จะต้องได้ข้าว คุณปลูกถั่ว คุณก็จะต้องได้ถั่ว ไม่ใช่คุณปลูกถั่ว แล้วจะต้องได้มัน หว่านพืชอะไร มันก็ได้อย่างนั้นแหละ

“ก็เหมือนสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น มันก็คือผลที่ตามมา คุณไปกดทับ คุณไปรังแกเขา คุณไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้ ไอ้สิ่งเหล่านี้มันก็เกิดขึ้น ประกอบกับถ้าคุณไม่มีวิสัยทัศน์ อย่างหลายประเทศ บางประเทศเขาอาจจะเป็นเผด็จการ แต่ผู้นำเขามีวิสัยทัศน์ที่ดี สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน ความไม่พอใจมันก็ลด

“แต่ถ้าคุณเป็นเผด็จการ แล้วคุณไม่มีวิสัยทัศน์ คุณสร้างความอยู่ดีกินดีแก่ประเทศไม่ได้ มันก็เหมือนคุณหว่านอะไร ก็ได้ผลอย่างนั้น มันไม่ได้เป็นเรื่องอะไรแปลก ทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ก็แค่นั้น

“ที่นี้เนี่ย ผมก็พูดกลับไปอย่างเดิม รัฐบาลจะชอบธรรม หรือไม่ชอบธรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ทำไมคุณไม่ทำตัวให้ชอบธรรมล่ะ”

ส่วนการทำงานของคุณดอน ในฐานะรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แม้จะเป็นอดีตผู้บังคับบัญชา แต่เขาก็วิจารณ์อย่างไม่อ้อมค้อม พร้อมระบุว่า 6 ปีที่ผ่านมา บทบาทไทยในเวทีโลก ตกต่ำลงเป็นอย่างมาก  

“คุณดอนก็เปรียบเสมือนผู้บังคับบัญชาเก่าของผม ถ้าเราพูดมากไป เดี๋ยวจะหาว่าเราพูดสิ่งที่ไม่ดีต่อหัวหน้าเก่า พูดไม่ดีต่อนายเก่า ผู้บังคับบัญชาเก่า

“จริงๆ ท่านก็เคยให้ความเอ็นดูผมนะ ผมก็เข้าใจอย่างนั้นแหละ เข้าใจว่าท่านก็ไม่ได้อะไรกับผม อยู่ในกระทรวง ท่านก็ไม่ได้มากลั่นแกล้ง หรืออะไรหรอกนะ

“แต่ความเกรงใจนี่นะ ผมก็จะบอกว่า มันเป็นนิสัย เป็นวัฒนธรรมของคนไทย ซึ่งในบางครั้งเนี่ย ในการทำงานมันทำให้เราไม่กล้าพูดความจริง เพราะกลัวจะไปกระทบคนนู้นคนนี้ ซึ่งหลายครั้งผลเสียก็เกิดขึ้นในการทำงาน

“แต่ต่างประเทศเขาจะไม่มีสิ่งเหล่านี้นะ ถ้าเห็นว่าอะไรไม่ถูกต้อง เขาก็พูดทันที แต่ของไทยเราก็มีลักษณะเกรงใจ ผมเองก็มี แต่ผมเห็นว่า ประโยชน์ส่วนร่วมมันสำคัญกว่า บางทีเราก็ควรจะพูด

“ซึ่งผมก็คิดว่าการทำงานของเรา 6 ปีที่ผ่านมา ในกระทรวงต่างประเทศเนี่ย ที่ชัดที่สุดเนี่ย บทบาทของเราในเวทีต่างประเทศมันตกลงมาก อันนี้คือชัดเจน เราไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาประเทศเหมือนเก่า

“เราไม่มีนโยบาย หรือประเด็นอะไรที่จะมาเล่นเลย 6 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยทำได้เลย ไม่มีอะไรเลยสักอย่าง คือมันไม่มีอะไรในสาระสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยเราโดดเด่น ศักดิ์ศรีของเราในเวทีระดับประเทศของเรา มันลดหายลงไปมาก

“การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศชาติ มันก็มีส่วนในแง่เศรษฐกิจด้วย ถ้าเรามีภาพลักษณ์ดี คนก็อยากมาลงทุน มาทำธุรกิจในเมืองไทย มาค้าขายในเมืองไทย

"แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้เราทำไม่ได้ เราไม่สามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศให้โดดเด่นได้ สิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนกระทบต่อการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจไปด้วย

"เพราะฉะนั้น 6 ปีที่ผ่านมา ผมไม่เห็นว่าเรามีอะไรที่โดดเด่น มีแต่ถดถอยในด้านต่างประเทศ อันนี้ผมขออนุญาตพูดตรงๆ นะ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิด ใครจะคิดไม่เหมือนผม ก็สุดแล้วแต่ แต่ในความเห็นของผมเนี่ย การต่างประเทศของเรา สถานะของเราในเวทีต่างประเทศมันลดลงมาก"

สุดท้ายนี้ สิ่งที่เขาต้องการจะฝากไว้ ก็คือกำลังใจให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม และข้อเรียกร้องไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“อันดับแรกผมก็อยากฝากกำลังใจไปยังเยาวชนทั้งหลาย ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องขอให้ประเทศเราพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับโลกส่วนใหญ่ สอคล้องกับแนวความเชื่อที่ดีงามของสังคม

“แม้กระทั่งศาสนา ไมว่าจะศาสนาใด เพราะว่าศาสนาทุกศาสนา ก็สอนให้เราเคารพกัน ไม่เบียดเบียนกัน เพราะฉะนั้นมันแน่ชัดอยู่แล้วว่า ประชาธิปไตยคือสิ่งที่ดีงาม

“ถ้าใครบอกไม่ดีงาม ก็แปลว่าคุณไม่เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมกัน ใช่หรือไม่ คุณไม่เชื่อการไม่เบียดเบียนกัน ใช่หรือไม่ เพราะนี่คือแนวทางเดียวกันหมด ผมก็ขอให้กำลังใจกับเยาวชนที่อยากจะเห็นประเทศเราก้าวหน้า และนำไปสู่สิ่งที่ดีงามในสังคม

“ก็ชื่นชมว่าเขากล้ามาก เด็กๆ พวกนี้ เราก็ไม่คิดว่าเขาออกมาต่อสู้ ออกมาเรียกร้องได้ขนาดนี้ ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็น่าเศร้าใจว่า เขาควรจะอยู่ในสถานศึกษา มีความสุขกับชีวิต ได้เฮฮาปาร์ตี้ แต่ว่าเขาก็ต้องออกมาทำสิ่งเหล่านี้ ซึ่งผมก็ขอเป็นกำลังใจให้เขา

“และสิ่งสุดท้ายที่อยากฝากนะ ผมก็ขออนุญาตเรียนตามตรงนะ อดีตผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งตอนนี้ไม่ได้เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว เป็นประชาชนคนหนึ่งธรรมดา แต่ในฐานะอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา ผมก็อยากเรียกกับท่านนายกฯ คุณประยุทธ์น่ะ ผมว่าท่านลาออกเถอะครับ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ”

related