17 ม.ค. 2564 เวลา 13:49 น.
จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร ได้มีประกาศ อัตราใหม่ค่ารถไฟฟ้า บีทีเอส สายสีเขียว มีมีอัตราสูงศุดถึง 104 บาทนั้น จากเดิมที่โดยสารตลอดสาย อยู่ที่ 59 บาท โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้
ต่อมากระทรวงคมนาคม ก็ได้ออกหนังสือขอเรียกร้องให้ระงับอัตราค่าโดยสารดังกล่าวไปก่อน ล่าสุดวันนี้ (17 ม.ค.) นายโสภณ ซารัมย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การอกประกาศปรับอัตราค่าโดยสาร เป็นการซ้ำเติมประชาชน ในช่วงวิกฤติ Covid-19
นายโสภณ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว และขอให้ กทม. ชี้แจ้งที่มาของการคำนวณราคา เพราะตั้งแต่เดือน พฤศจิกายนปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ ยังไม่ได้รับข้อมูลใดๆ และได้มีข้อแสดงแนะให้พิจารณาดังนี้
การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.ควรเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ว่ามีฐานการคิดคำนวณมาอย่างไร เนื่องจากการสอบถามข้อมูลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว กระทรวงคมนาคม เห็นว่า ยังสามารถลดค่าโดยสารลงได้ต่ำกว่า 65 บาท
กรรมาธิการการคมนาคม จึงเห็นว่า ค่าโดยสารที่สามารถลดลงได้อีก เนื่องจากปริมาณการเดินทางในอนาคต จะมีมากขึ้น ต้นทุนต่อการเดินรถควรจะถูกลงอีกจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย จะสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้มากขึ้น
ในการต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้ เช่น การลดค่าแรกเข้าระบบ ที่ไม่ควรจะมีการคิดซ้ำซ้อน และไม่มีเงื่อนไขซึ่งจะเป็นภาระต่อผู้โดยสาร
หากยังไม่มีการต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งกำลังจะหมดลงในปี 2572 หรือในอีก 9 ปี ข้างหน้า และสินทรัพย์ทั้งหมด จะตกกลับมาเป็นของรัฐ คือ กทม. จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า
เนื่องจาก รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีกำไร หลังจากหักค่าจ้างเดินรถแล้ว จะมีกำไรไม่น้อยกว่าปีละ 5,000 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
กำไรดังกล่าว สามารถนำมาบริหารจัดการ ช่วยลดอุดหนุน เส้นทางรถไฟฟ้า อื่น ๆ ที่อยู่นอกเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนผู้มีรายได้น้อยกว่า ได้ใช้รถไฟฟ้าในอัตราที่ถูกกว่า คนในใจกลางเมือง
การที่อ้างว่า กทม.ไม่มีความสามารถทางการเงินในการชำระหนี้ และบริหารจัดการ ไม่เป็นความจริง เนี่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นทาง มีศักยภาพทางธุรกิจที่ชัดเจน สามารถระดมเงินเพื่อบริหารจัดการ ได้จากแหล่งเงินต่าง ๆ เช่น ธนาคาร แหล่งทุน เพราะมีรายได้มหาศาลที่ชัดเจน
การดำเนินการของคณะกรรมการฯ ตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 ควรเปิดเผยรายงานการประชุม ต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน โดยทั่วไปได้
การต่อสัญญาสัมปทานดังกล่าว ยังดำเนินการไม่ครบถ้วน เช่น พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง 2562 และการตรวจสอบจากองค์กรอิสระต่าง ๆ ยังไม่แล้วเสร็จ
สุดท้ายนี้ นายโสภณ กล่าวว่า จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง ในวันที่ 21 มกราคม เพื่อคัดค้านการขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม และแจ้งเรื่องการคัดค้านดังกล่าวไปยังรัฐบาลต่อไป