svasdssvasds

ผู้เชี่ยวชาญย้ำ "วัคซีนโควิด" ไทยไม่ได้ล่าช้า ยึดหลักความปลอดภัยเป็นอันดับแรก

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ ย้ำวัคซีนโควิด-19 ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ยึดหลักความปลอดภัยอันดับแรก ประสิทธิภาพต้องมากกว่า 50% ยันไทยไม่ได้ล่าช้าเรื่องการจัดหา การคิดและตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ต่อทุกคน

 

 วานนี้ (22 ม.ค. 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวถึงวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า

 วัคซีนเป็นเครื่องมือเสริมที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันโรค ต้องใช้เวลานับเดือนจะเห็นผลในการสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่ 1-2 สัปดาห์ ที่สำคัญวัคซีนไม่ใช่สูตรสำเร็จ ดังนั้นเมื่อฉีดวัคซีนแล้วยังต้องรักษามาตรการป้องกันโรค คือ สวมหน้ากาก ล้างมือและเว้นระยะห่าง

 

 

 ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 ที่ทั่วโลกยอมรับเป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ไม่ใช่ภาวะปกติ มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 3 ตัว แต่อนาคตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการพิจารณานำวัคซีนมาใช้จะต้องมีความปลอดภัยเป็นลำดับแรก ตามด้วยมีประสิทธิภาพที่รับได้ โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่าวัคซีนโควิด-19 ต้องมีประสิทธิภาพอย่างน้อย 50% ขึ้นไป

 นพ.ทวี กล่าวว่า สำหรับราคาวัคซีนยังมีราคาสูง เนื่องจากตลาดเป็นของผู้ขาย แต่จำเป็นต้องซื้อมาให้ประชาชน เบื้องต้นไม่สามารถฉีดให้ทุกคนได้ เป้าหมายคือฉีดให้ได้ 50-70% ของประชากร ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานแค่ไหน ต้องฉีดซ้ำหรือไม่ ครอบคลุมเชื้อดื้อยาหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไป

 ส่วนข้อสงสัยว่าไทยเพิ่งเตรียมพร้อมหรือไม่ ข้อเท็จจริงไทยได้มีการเตรียมพร้อมมานาน แต่มีข้อจำกัดเรื่องการจ่ายเงินหลังจากการจองทันที และไม่คืนเงินหากวิจัยไม่สำเร็จ ทำให้เกิดความติดขัด จนกระทั่งได้รับข้อเสนอจากแอสตราเซนเนกา

 

"ในการเลือกโรงงานผลิต มีข้อเสนอโรงงานในไทยและต่างประเทศ แต่แอสตราเซนเนกาเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ย้ำว่าเขาเป็นผู้เลือกเอง ถ้าเราไม่ดีพอเขาก็จะไม่เลือก แม้เลือกแล้วก็ยังต้องปรับปรุงพัฒนาให้โรงงานผลิตได้ บ่งบอกว่าบริษัทได้เกณฑ์มาตรฐาน เป็นเรื่องที่คนไทยเราน่าจะภาคภูมิใจ เพราะได้รับการรับรองจากเจ้าของวัคซีน ส่วนวัคซีนที่จะนำมาใช้ต้องขึ้นทะเบียนกับ อย. มีผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเอกสารกว่า 1.8 หมื่นหน้า เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ซึ่งวันนี้ขึ้นทะเบียนได้แล้ว ก่อนใช้ต้องส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจคุณภาพ"

 

นพ.ทวี กล่าวต่อว่า การได้มาวัคซีนโควิด-19 นอกจากความรวดเร็วแล้วต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย ไทยไม่ได้ช้ากว่าประเทศอื่น เพราะหลายประเทศยังไม่ได้

ส่วนผลข้างเคียงที่พบหลังฉีดเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจากเดิมที่มีการทดลองในคนหลัก 3-4 หมื่นคน อาจยังไม่พบผลข้างเคียง แต่เมื่อนำมาใช้ในคนหลักล้านคนอาจพบผลข้างเคียงที่ไม่เคยพบมาก่อนได้

 สำหรับการใช้วัคซีนโควิด-19 ในไทย จะเริ่มใช้ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง เน้นในบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าก่อน ซึ่งการเลือกกลุ่มเป้าหมายแต่ละประเทศมีแนวคิดแตกต่างกันไปไม่มีใครผิดหรือถูก ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละประเทศ แต่ของไทยฝ่ายการแพทย์เลือกบนพื้นฐานคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับคนไทย

ผู้เชี่ยวชาญย้ำ "วัคซีนโควิด" ไทยไม่ได้ล่าช้า ยึดหลักความปลอดภัยเป็นอันดับแรก

หมอธีระ แจงเหตุในการเลือกวัคซีนโควิด ฝากทุกฝ่ายไม่ทะเลาะกันเรื่องนี้

ข่าวปลอม อย่าแชร์! อย.เอื้อให้มีการผูกขาดวัคซีนป้องกันโควิด-19

related