svasdssvasds

เลขาฯ สมช. ยันยังไม่คิดใช้ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว ขอเก็บไว้เป็นมาตรการสุดท้าย

เลขาฯ สมช. ยันยังไม่คิดใช้ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว ขอเก็บไว้เป็นมาตรการสุดท้าย

เลขาฯ สมช. ยันตั้งกรรมการชุดเฉพาะกิจ เพื่อบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ไม่ซ้ำซ้อนการทำงาน โต้กระแส นำทหารมาสู้โรคระบาด มองนำหลายหน่วยงานมาบูรณาการร่วมกัน ลั่น ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว เป็นทางเลือกสุดท้าย หากหยุดการแพร่ระบาดไม่ได้

 พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. ในฐานะผอ.ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวถึงการทำงานของกรรมการชุดเฉพาะกิจ เพื่อบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ว่า ตามประกาศฉบับที่ 3 ที่มีนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในประเด็นต่างๆ เช่นหน้ากากอนามัย วัคซีน ยารักษาโรค ทางศบค.ได้ใช้เวทีของคณะกรรมการชุดนี้บูรณาการและสรุปข้อมูลตามระยะเวลา และหากนายกรัฐมนตรีให้นโยบายมาคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะรับไปปฏิบัติต่อไป 

 ทั้งนี้พลเอกณัฐพล ระบุว่า ในกรอบการทำงานของศบค.ทั้งหมดตนมีส่วนเข้าร่วมในทุกการประชุม โดยตนนั้นมีบทบาทหลักในการที่จะบูรณาการงานทุกอย่างให้เป็นไปอย่างประสานสอดคล้อง ไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน ความจำเป็นที่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าตนจะสามารถเข้าไปก้าวล่วงในทุกหน่วยงานได้หากไม่มีอำนาจหน้าที่ การแต่งตั้งเพื่อให้มีอำนาจรองรับเพื่อเข้าไปการดำเนินการ

 ส่วนการวิพากย์วิจารณ์ในกรณีที่ให้เจ้าหน้าที่ทหารมารบกับโรคระบาดแทนแพทย์นั้น พลเอกณัฐพล ระบุว่า ในศบค.มีหน่วยงานหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานวิจัย และกองบัญชาการกองทัพไทย ไม่ใช่แต่กระทรวงสาธารณสุขงานเดียว งานด้านกระทรวงสาธารณสุขและการแพทย์นั้นเป็นของกระทรวงสาธารณสุข แต่งานด้านอื่นๆก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้หน่วยงานอื่นบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เกิดการประสานสอดคล้อง

 เพราะฉะนั้นการที่ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือหน่วยงานใดก็ตามที่ได้รับมอบหมายงานจากรัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรี ไม่เช่นนั้นทีมแพทย์เองจะต้องมาบูรณาการทำงานเอง อย่างการระวังป้องกันตามแนวชายแดน ชาวประเทศเพื่อนบ้านที่ลักลอบเข้ามาภายในราชอาณาจักรก็เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านความมั่นคง พร้อมกับระบุว่าการที่ตนได้รับการมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเข้ามาเพื่อประสานการทำงานเท่านั้น การรักษาโรคการป้องกันการแพร่ระบาดเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข

 ส่วนมาตรการการควบคุมโรคนั้น พลเอกณัฐพลระบุถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ชุมชน ว่า นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการในการบูรณาการแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด -19 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งได้มีการประชุมและวางโครงสร้าง รองรับรองไปถึงได้ระดับเขต ซึ่งเรียกว่าศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาด โควิด -19 เขต เพื่อให้การทำงานนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากในการทำงานที่ผ่านมาการป้องกันการแพร่ระบาด ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะดำเนินการโดยส่วนกลาง ซึ่งมีความจำเป็นให้แต่ละเขตมีการจัดโครงสร้างที่สมบูรณ์ เพื่อให้แต่ละเขตสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองทั้ง 50 เขต

 ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ศบค. มีการกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยจะฟังข้อมูลจากทางแพทย์เป็นหลัก ว่าต้นเหตุการแพร่ระบาดในแต่ละครั้งนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งการแพร่ระบาดในรอบแรกนั้นมาจากการเดินทางมาจากต่างประเทศ ส่วนรอบที่ 2 เกิดจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ส่วนในรอบที่ 3 นี้เกิดจากสถานบันเทิง ออกมาตรการไปแล้วใกล้ครบ 14 วันจะต้องมาประเมินการออกมาตรการ ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอยู่ ส่วนจะมีแนวโน้มไปถึงการล็อคดาวหรือเคอร์ฟิวส์ หรือไม่นั้นพลเอกณัฐพล ระบุว่า นายกรัฐมนตรีให้นโยบายมาว่า ให้ศบค.กำหนดมาตรการอย่างรอบคอบ พยายามให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด ส่วนจะมีมาตรการล็อคดาวน์หรือคือฟิวส์นั้นคงเป็นมาตรการสุดท้าย หากไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้จริง แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคิดที่จะล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวแต่อย่างใด

 ส่วนแนวทางการจัดการผู้ป่วยเด็กเล็กในโรงพยาบาลสนาม ในเบื้องต้นหากพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อจะนำดำเนินการแยกกักตัว ส่วนภาพที่ปรากฏในโรงพยาบาลสนามอาจมีอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา มีการแต่งตั้งปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจึงคาดว่าจะเรียบร้อยในเร็วๆนี้

 ส่วนข้อกังวลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 สายพันธุ์บราซิลและสายพันธุ์แอฟริกาที่อาจเข้ามาตามแนวชายแดนหรือสถานกักกัน จะมีการดำเนินการอย่างไรนั้น พลเอกณัฐพล เปิดเผยว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายหรือไม่นั้น จะเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่วนในสถานกักกันโรคนั้น เมื่อช่วงเช้าได้มีการหารือแล้วว่าจะมีการขยายเวลากักตัวเป็น 14 วัน สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศควรให้มีมาตรการติดตามภายหลักออกจากสถานกักกันแล้ว โดยขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นอีกระยะหนึ่งอีก 14 วัน เพื่อความรอบครอบป้องกันการติดเชื้อ

 ส่วนการเปิดประเทศในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้หรือภูเก็ต Sainboxจะเป็นไปได้หรือไม่นั่น ทางศบค.จะพยายามให้เป็นไปได้ แต่ต้องประเมินสถานการณ์ณเวลานั้นอีกครั้งหนึ่ง โดยวัคซีนที่จะเข้ามาภายในปลายเดือนนี้จะเร่งฉีดให้กับพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นอันดับแรก

  ด้านแนวทางการปิดบังกิจกรรมกิจการในพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 6 จังหวัดนั้นจะมีการขยายถึงสิ้นเดือนหรือไม่ ต้องฟังการประเมินจากทีมแพทย์เป็นหลัก หลังจากที่มีการสอบสวนโรคแล้ว ซึ่งจะมีข้อมูลของสาเหตุการแพร่ระบาด

 ส่วนการฉีดวัคซีนในพื้นที่สีแดงเข้ม คนในวัย ทำงานจำเป็นต้องฉีดวัคซีนด้วยหรือไม่เนื่องจากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมวันนี้ ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มคนกลุ่มอื่นที่มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เช่นคนทำงาน ไม่ใช่กลุ่มผู้มีโรคประจำตัวหรืออายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการหารือร่วมกันอยู่

 ด้านการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ามีการนำเข้ามาในประเทศไทยแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ทางบริษัทไฟเซอร์เองก็มีการชี้แจงว่าไม่ได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทยแต่อย่างใดนั้น จะมีการจัดการกับข่าวดังกล่าวอย่างไร พลเอกณัฐพล ยืนยันว่า จะไม่เสียเวลากับข่าวที่ไม่เป็นความจริง ต้องพยายามสร้างการรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงให้กับประชาชน ผ่านการแถลงข่าวของโฆษกศบค. ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญด้านวัคซีนมาให้ความรู้ประชาชน 

 ส่วนการฉีดวัคซีนในพื้นที่ชุมชนอาจมีหัวคะแนนทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในการแจกคิวเป็นพิเศษของคนบางกลุ่ม มีการดูแลหรือจัดแนวทางที่เหมาะสมอย่างไรนั้น พลเอกณัฐพล ระบุว่า ในขั้นต้นตนได้รับทราบข้อมูลลักษณะนี้ แต่ได้สอบถามหน่อยงานพื้นที่แล้ว ยืนยันว่าไม่เป็นเช่นนั้นซึ่งทางศปก.ศบค.ได้เน้นย้ำหน่วยงานในพื้นที่โดยเฉพาะเขต และหน่วยงานด้านสาธารณสุขให้เพ่งเล็งเรื่องนี้เป็นพิเศษ มองมาตรการด้านความเสี่ยงเป็นอันดับแรก รวมไปถึงระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนั้นเกิดขึ้น โดยจะมีหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้าไปสนับสนุนในการทำงาน

 ทั้งนี้การตั้งเป้าฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันละ 60,000 โดส นั้น นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า จะต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนมห้ได้ 50 ล้านคนในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเหลือเวลาอีก 8 เดือน โดยศบค.ตั้งเป้าให้ฉีดวัคซีน เข็มแรกใน 4 เดือน ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีทั้งประชากรและประชากรแฝง ประมาณ 6 ล้านคนจึงจำเป็นต้องฉีดให้ได้วันละ 60,000 คน โดยมอบให้ทางกรุงเทพมหานครเป็นผู้วางแผนจำหนดจุด

ทั้งนี้ ผอ.ศปก.ศบค. ระบุว่า ตนขอความฝากความห่วงใยประชาชน การแพร่ระบาดในระลอกนี้ เป็นการแพร่ระบาดที่กลุ่มคนทำงาน หรือมีกิจกรรมในสังคม และติดเชื้อจากที่ทำงานกลับมาแพร่ระบาดคนในครอบครัว จึงขอให้ระมัดระวังสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือในช่วงนี้อย่างเข้มงวด และจะเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด

related