svasdssvasds

สรุปให้ “ประเทศไทย” กับปัญหาที่เกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด-19"

สรุปให้ “ประเทศไทย” กับปัญหาที่เกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด-19"

วัคซีนโควิด-19 เป็นอาวุธที่สำคัญที่สุด ในการแก้วิกฤตโรคระบาด แต่ในส่วนของประเทศไทย ก่อนหน้านี้กลับให้ความสำคัญกับวัคซีนน้อยมาก ส่งผลให้ 1. วางยุทธศาสตร์ผิดพลาด 2. ได้วัคซีนน้อยและล่าช้า 3. ประชาชนไม่เชื่อมั่นในวัคซีนที่รัฐบาลจัดหา

สถานการณ์ตอนนี้ หากโลกกำลังทำสงครามกับโรคระบาด วัคซีนโควิด-19 ถือว่าเป็นอาวุธที่สามารถสยบโควิด-19 ได้ และทำให้แต่ละประเทศหลุดพ้นจากมหาวิกฤต

วัคซีนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการเผด็จศึกโควิด-19 แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยกลับให้ความสำคัญน้อยมาก เพิ่งจะมาเร่งสปีดเรื่องวัคซีน ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

กระทั่งเมื่อเกิดการระบาดระลอก 3 ไทยก็ส่ออาการโคม่า ซึ่ง SPRiNG ขอ #สรุปให้ 3 ข้อ ไทย กับปัญหาเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ดังต่อไปนี้

1. ยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนโควิด-19 ที่ผิดพลาด : ไม่กระจายความเสี่ยงเสียแต่เนิ่นๆ

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็บ่งบอกชัดเจนแล้วว่าสิ่งที่ใช้กำราบโรคระบาดได้รวดเร็วที่สุด ก็คือวัคซีน หลายๆ ประเทศ แม้ไม่สามารถผลิตวัคซีนเองได้ ก็มีการตระเตรียมจัดซื้อตั้งแต่เนิ่นๆ โดยใช้ยุทธวิธีกระจายความเสี่ยง เพราะในเวลานั้น ไม่มีใครอาจรู้ได้ว่า วัคซีนของบริษัทใดจะสำเร็จ หรือมีประสิทธิภาพดีที่สุด

ส่วนไทยเริ่มมีการจองวัคซีนโควิด-19 เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว กับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า  และมีสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นฐานผลิตให้กับบริษัทดังกล่าว

ในเวลานั้น มีเสียงเตือนให้ไทยดีลกับบริษัทผลิตวัคซีนหลายๆ แห่ง เพื่อการะจายความเสี่ยง แต่รัฐบาลก็ไม่สนใจ กระทั่งเกิดการระบาดในระลอกที่ 2 ตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องมายังต้นปี 2564 ที่บีบให้ไทยต้องรีบหาวัคซีนโควิด-19 ให้ได้เร็วที่สุด

แม้จะมีความพยายามเร่งบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ให้ส่งวัคซีนโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาให้ก่อนกำหนด (ตามแผนจะเริ่มทยอยส่งให้ไทยในช่วงกลางปี 2564) แต่ช่วงเวลานั้นแอสตร้าเซนเนก้า ก็ประสบปัญหาหลายๆ ด้าน รัฐบาลไทยจึงติดต่อขอซื้อวัคซีนกับบริษัทซิโนแวค เอกชนในประเทศจีน และเริ่มต้นฉีดวัคซีนครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา  

วัคซีนโควิด-19

2. ได้วัคซีนโควิด-19 น้อย และล่าช้า

การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ไม่เพียงแต่ทำให้เห็นถึงความผิดพลาดด้ายยุทธศาสตร์วัคซีนเท่านั้น เพราะมีปัญหาด้านอื่นๆ โผล่ขึ้นมาอีกมากมาย สะท้อนให้เห็นถึงความประมาท ชะล่าใจ ผิดซ้ำผิดซาก จนสถานการณ์รุนแรง อย่างที่ไม่น่าจะเลยเถิดมาถึงจุดนี้

และเหมือนรัฐบาลจะเพิ่งตื่น เพิ่งเร่งดีลกับบริษัทวัคซีนต่างๆ แต่กว่าจะได้วัคซีน ก็ต้องรอช่วงไตรมาส 3 หรือ ไตรมาส 4 ของปี เพราะประเทศอื่นๆ เขาสั่งจองตั้งแต่ปีที่แล้ว

นอกจากนั้นยังมีปัญหาด้านการกระจายวัคซีน แม้รัฐบาลตั้งเป้า ฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ก่อนสิ้นปี แต่ในวันนี้ (11 พฤษภาคม) เพิ่งฉีดไปได้เพียง 1.8 ล้านโดส หรือ 1.8 % ของเป้าที่วางไว้

วัคซีนโควิด-19

3. ประชาชนไม่เชื่อมั่นในวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลจัดหา

ปัญหาล่าสุดที่ทำให้รัฐบาลกำลังกุมขมับ ก็คือประชาชนไม่เชื่อมั่นในวัคซีนที่รัฐบาลจัดหา  

ดังจะเห็นได้จากการจองคิวฉีดวัคซีนโควิด19 ในกลุ่มผู้อายุเกิน 60 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม โดยจะเริ่มฉีดวันที่ 7 มิถุนายน ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่า จะมีผู้จองคิวลงทะเบียน 16 ล้านคน

แม้พยายามประกาศว่า วัคซีนที่จะนำมาฉีดในล็อตนี้ คือ แอสตร้าเซนเนก้า ไม่ใช่ซิโนแวค ที่ถูกตั้งข้อสงสัยในแง่ของประสิทธิภาพ และผลข้างเคียง

แต่จากตัวเลขที่ออกมา ในระยะเวลา 10 วัน มีการจองคิวน้อยนิดอย่างน่าใจหาย เพราะมีการลงทะเบียนเพียง 1.6 ล้านคน เท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงมีแนวโน้มว่า  ไม่เพียงแต่วัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลจัดหาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐบาลเอง ที่ประชาชนอาจหมดความเชื่อมั่น และไม่ไว้วางใจ จากปัญหาต่างๆ มากมาย ที่ประเทศชาติกำลังประสบอยู่  

related