svasdssvasds

นานาชาติ เรียกร้องครบ 1 ปี กรณี "วันเฉลิม" ถูกอุ้ม เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้

นานาชาติ เรียกร้องครบ 1 ปี กรณี  "วันเฉลิม" ถูกอุ้ม เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้

ครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์ วันเฉลิมถูกอุ้มหาย เรื่องนี้สะท้อนว่าการถูกบังคับให้สูญหายยังมีอยู่จริง และหลายๆสถานทูตออกมาเรียกร้อง มาสร้างความตะหนักรู้ให้กับสังคมไทย โดยชี้ว่าการพรากชีวิตหนึ่งโดยอำพรางไม่ให้ครอบครัวรู้ชะตากรรมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

1 ปี "วันเฉลิม" ถูก บังคับให้สูญหาย

วันนี้... 4 มิถุนายน ถือเป็นวันครบรอบ 1 ปี จากกรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทางการเมือง ถูกอุ้มหายใกล้ที่พักชื่อ Mekong Garden Apartment ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ในย่าน Chroy Changva ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

สถานทูตหลายๆชาติ โพสต์ข้อความครบรอบ 1 ปี จากเหตุการณ์นี้  ซึ่งมันทำให้ประเด็นการบังคับให้สูญหาย ได้รับความสนใจมากขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ มีรายงานว่า มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยจำนวนหลายคนถูกบังคับให้สูญหายมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 จนถึงยุคปัจจุบัน แต่คดีก็ไม่มีความคืบหน้า โดยหลายกรณีเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ

นานาชาติชี้ "อุ้มหาย" ไม่อาจยอมรับได้

ย้อนเข็มนาฬิกากลับไป วันนี้เมื่อปีที่แล้ว วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกอุ้มหาย และกลายเป็นที่พูดถึงทั้งประเทศ เป็นปรากฏการณ์ ไฟไหม้ลามทุ่งทุกวงสนทนา กระทั่งเกิดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งหลังของปี 2020

แฮชแท็ก ผุดขึ้นในวันถัดมา  เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2020  โดย ‘#Saveวันเฉลิม’ ซึ่งถูกกล่าวถึงมากกว่า 576,000 ครั้ง กระทั่งแฮชแท็กดังกล่าวติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย ณ เวลานั้น และนั่นทำให้ ทุกคนตระหนักถึงเรื่อง อุ้มหาย และเป็นเรื่องที่นานาชาติสนใจ จนถึงวินาทีนี้...ตอนนี้

โดย ข้อความจาก สถานทูตสวีเดนประจำกรุงเทพ ได้โพสต์ข้อความ ใจความสำคัญคือ การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นเรื่องที่มิอาจยอมรับได้และขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
    เช่นเดียวกับ สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำกรุงเทพ , สถานทูต สวิตเซอร์แลนด์ ประจำกรุงเทพ ซึ่งโพสต์ข้อความเดียวกับสถานทูตสวีเดน แต่มี ภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องการสื่อสารกับชาวต่างชาติมาร่วมด้วย
   ด้าน  สถานทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย มีการโพสต์ในข้อความเดียวกัน เป็น 3 ภาษาทั้ง ไทย,อังกฤษและภาษาเยอรมัน
    ขณะที่ สถานทูตเดนมาร์ก ประจำกรุงเทพ เขียนข้อความในความหมายเดียวกัน เป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว

"ลองจินตนาการดูว่าจะเป็นเช่นไรหากคนที่ท่านรักจู่ ๆ ก็หายตัวไป ท่านจะรู้สึกอย่างไร? ท่านจะคิดถึงเขาไหม? ท่านจะร่ำร้องเพื่ออยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นไหม? ท่านจะทำทุกวิถีทางไหมที่จะตามหาเขา? ท่านจะเรียกร้องขอความยุติธรรมหรือไม่?

น่าเศร้าใจที่มีหลายแสนคนในอย่างน้อย 85 ประเทศทั่วโลกได้หายตัวไปในระหว่างที่เกิดความขัดแย้งหรือมีการปราบปราม

 การบังคับบุคคลให้สูญหายไม่ใช่แค่อาชญากรรมต่อเนื่องเท่านั้น ผู้เสียหายโดยมากจะถูกทรมานหรือสังหารโดยตัวแทนของรัฐหรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับคำสั่งจากรัฐ ทั้งนี้ การบังคับบุคคลให้สูญหายทำให้ผู้เสียหายเจ็บปวดแสนสาหัส ส่วนครอบครัวและญาติก็ทุกข์ทรมานใจไปจนชั่วชีวิต

การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นเรื่องที่มิอาจยอมรับได้และขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ครอบครัวของผู้เสียหายและสังคมมีสิทธิที่จะทราบความจริงว่าได้เกิดอะไรขึ้นกับคนที่พวกเขารัก"

 

การอุ้มหายยังมีอยู่จริง

ขณะเดียวกัน สถานทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความที่แตกต่างออกไป โดยระบุว่า สถานทูตร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการสหประชาชาติให้ประเทศสมาชิกปกป้องทุกคนจากการบังคับบุคคลให้สูญหายและดำเนินการค้นหาความจริงอย่างเร่งด่วน รวมทั้งนำความยุติธรรมมาสู่บุคคลที่สูญหายและครอบครัวของพวกเขา
    โดยข้อความที่ สถานทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ระบุไว้ มีดังนี้

    "ขณะที่ การ #อุ้มหาย ยังมีอยู่จริง
    เหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย (Enforced Disappearance) อาจเป็นคนที่คุณรัก เป็นเสาหลักของครอบครัว หรือกระทั่งเป็นผู้นำชุมชน พวกเขาอาจเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของผู้อื่น การบังคับบุคคลให้สูญหายยังมีอยู่จริงในเวลานี้ คดีบังคับบุคคลให้สูญหายที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายนำไปสู่การ #ลอยนวลพ้นโทษ ของผู้กระทำความผิด สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวที่อาจทำให้ผู้อื่นไม่กล้าเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็น
    สหราชอาณาจักรมีพันธกิจในการสนับสนุนและปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลก เราร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการสหประชาชาติให้ประเทศสมาชิกปกป้องทุกคนจากการบังคับบุคคลให้สูญหายและดำเนินการค้นหาความจริงอย่างเร่งด่วน รวมทั้งนำความยุติธรรมมาสู่บุคคลที่สูญหายและครอบครัวของพวกเขา"

    เป็นเวลา 1 ปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคมไทย ในวงของการพูดถึงเรื่อง การอุ้มหาย หรือ การบังคับให้สูญหาย...ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ที่นานาชาติยอมรับไม่ได้  แต่ขณะเดียวกันบางสิ่งยังคงเดิม ไม่เคยแปรเปลี่ยน

ประเด็นการถูกบังคับให้สูญหาย จากแฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม ได้กลายเป็นประเด็นร่วมสมัยที่สังคมให้ความสนใจ เพราะการพลัดพรากชีวิตหนึ่งโดยอำพรางไม่ให้ครอบครัวรับทราบชะตากรรมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ขณะเดียวกัน คนในสังคมไทยตอนนี้ ต่างก็มองว่าการบังคับให้สูญหายเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ต้องถูกแก้ไข...

 

related