svasdssvasds

พรรคก้าวไกล เสนอแนวทางแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ย้ำจุดยืน ยุติการสืบทอดอำนาจ

พรรคก้าวไกล เสนอแนวทางแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 พุ่งเป้าไปที่ปิดสวิตช์ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ เพื่อยุติกลไกสืบทอดอำนาจ คสช. รวมถึง สสร. ต้องมีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญได้ทุกหมวด ในขณะที่แนวทางของพรรคเพื่อไทย ห้ามแก้หมวด 1 และหมวด 2

เพจพรรคก้าวไกล ได้นำเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตามแนวทางของพรรค ดังต่อไปนี้

หนทางที่ดีที่สุดในการออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน คือการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยพรรคก้าวไกล มีแนวทางดังต่อไปนี้

ประตูบานแรก

พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ยังค้างอยู่ในสภา เพื่อเร่งการจัดทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่แก้ไขได้ทุกหมวด

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลจะไม่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข มาตรา 256 กับพรรคเพื่อไทย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการไปจำกัดอำนาจของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ

พรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดว่า การกำหนดห้ามดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว และเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน

พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นเสมอว่า สสร. ที่มาจากประชาชนมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด และ สสร. ควรเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้แก่ทุกฝ่าย เคารพอำนาจของประชาชน เพื่อนำไปสู่ฉันทามติใหม่ของสังคมไทยร่วมกัน

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

สิ่งที่ต้องทำคู่ขนาน

ไม่เดินตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราใดออกมา เพราะมีเป้าหมายในการสร้างความสับสน หรือแย่กว่านั้นคือ อาจกลายเป็นการไปช่วยกันตกแต่งให้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ดูดีขึ้น และเป็นการช่วย ‘ต่ออายุ’ ให้ ‘ระบอบประยุทธ์’

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราในสถานการณ์ปัจจุบัน ควรพุ่งเป้าให้ชัดเจนไปที่ มาตรา 272 เพื่อ ‘ปิดสวิตช์ ส.ว.’ ปลดกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร ยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. โดย ส.ส. พรรคก้าวไกลจะลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นนี้ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน แล้วยื่นต่อประธานสภา

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ผลักดันต่อ

หากจะมีการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ต้องมีเป้าหมายในการสร้างระบบการเลือกตั้งที่ดี ไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงแค่การแสวงหาระบบเลือกตั้งที่พรรคการเมืองใหญ่ได้ประโยชน์มากที่สุด

เสนอระบบการเลือกตั้งเป็น ‘ระบบจัดสรรปันส่วนผสม’ ที่ใช้ ‘บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ’ กล่าวคือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และเลือกพรรคการเมืองอีก 1 ใบ โดยนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ และได้สัดส่วน ส.ส. ของแต่ละพรรคตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด

ซึ่งหมายถึงว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ต้องการต่ออายุให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ทุกเสียงต้องถูกนับ

การเลือกตั้งแบบจำนวนบัตรสองใบเราเห็นด้วย แต่ระบบบัตรสองใบก็มีหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบปี 2540 เท่านั้น ซึ่งเราต้องการระบบการเลือกตั้งที่ตอบสนองเจตจำนงของประชาชนที่สุด เสียงต้องไม่ตกน้ำ หรือไม่ใช่การเลือกตั้งที่ผลออกมาแล้วไม่เป็นพรรคใหญ่ก็มีแค่พรรคเล็กไปเลย

ระบบบัตรสองใบเป็นเรื่องดี เพราะประชาชนสามารถเลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบได้ แต่วิธีการคำนวณจัดสรร ส.ส. แบบเขตกับบัญชีรายชื่อมีหลายแบบ ซึ่งระบบ MMP แบบเยอรมัน เป็นระบบที่ไม่มีเสียงตกน้ำ เราจึงเชื่อว่าเป็นระบบที่เหมาะสม และตอบสนองเจตจำนงประชาชนมากที่สุด

related