svasdssvasds

Antibody Cocktail ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ เข้าไทยแต่ไม่ไหวจะแมส

Antibody Cocktail ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ เข้าไทยแต่ไม่ไหวจะแมส

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ของไทยอนุมัติให้ ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail) ใช้ได้แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตอนนี้เราจึงมีอีกหนึ่งตัวเลือกในการใช้ยารักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail) หรือ ยาแอนติบอดีแบบผสม จัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ Neutralizing Monoclonal Antibodies (NmAbs) ซึ่งมีข้อมูลจากผลการทดลองทางคลินิกและข้อมูลการใช้จริงในสหรัฐอเมริกา ว่าการช่วยลดระยะเวลาการเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ และหากใช้ในไทยได้อาจช่วยลดภาระเตียงเต็มที่เรากำลังเผชิญอยู่

ฟังคุณหมอให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Antibody Cocktail 

จากการฟัง Virtual Conference : เจาะลึกตัวเลือกการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ด้วย Neutralizing Monoclonal Antibodies - NmAbs (ภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์) ทีม SPRiNG พบว่า เป็นยาอีกชนิดที่น่าศึกษาและติดตามผลการใช้จริงในประเทศไทย จึงนำข้อมูลที่ได้รับฟังจาก 3 คุณหมอมาเผยแพร่ต่อ

monoclonal

  • คนแรก : ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

หมอมานพเปิดประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์  อย่าง แอนติบอดี ค็อกเทล ว่า เป็นแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอล (monoclonal) หมายถึง มีแอนติบอดี 2 ชนิดที่ใช้ควบคู่กัน 

"ตัวยาดังกล่าวประกอบด้วย แอนติบอดีที่สกัดจากหนู VelocImmune® ซึ่งถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีระบบภูมิคุ้มกันอย่างมนุษย์ และ แอนติบอดีที่สกัดจากผู้ติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งรักษาหายแล้ว โดยกลไกการทำงานของยาแอนติบอดี ค็อกเทล สามารถตรงเข้าจับกับตัวรับบนโปรตีนรูปเดือยบนผิวของไวรัส SAR-CoV-2 ได้แน่นและเฉพาะเจาะจง ทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลงและยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกายมนุษย์ได้”

นพ.มานพ พิทักษ์ภากร

ในด้านวิธีใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล ต้องหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำในครั้งเดียว (single intravenous infusion) โดยจะเริ่มให้ที่ปริมาณ 1,200 มก. นอกจากนี้ คุณหมอยังบอกเพิ่มอีกว่า 

“ยาแตกต่างจากวัคซีน ตรงที่วัคซีนใช้สำหรับป้องกันบุคคลทั่วไปก่อนที่จะไปสัมผัสหรือรับเชื้อ (pre-exposure prophylaxis) ในขณะที่กลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ซึ่งรวมถึงยาแอนติบอดี ค็อกเทล มีคำแนะนำการใช้ในกลุ่มที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อและมีอาการอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ซึ่งไม่ต้องได้รับออกซิเจนเสริม รวมทั้งเป็นผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการลุกลามไปสู่ระดับรุนแรง” 

กลไกการยังยั้งไวรัสโคโรนา 2019

  • คนที่สอง : ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

จากการทดลองทางคลินิกระยะสาม เกี่ยวกับการใช้แอนติบอดี ค็อกเทล เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงผู้เข้าร่วมการวิจัยว่า

“มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด 19 เข้าร่วมมากกว่า 4,000 คน โดยแต่ละคนแสดงอาการของโรคโควิด 19 มาไม่เกิน 7 วัน และอาการอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง และไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะต้องไม่เคยได้รับยารักษาโควิด 19 มาก่อน" 

ศศิโสภณ ศิริราช

คุณหมอกล่าวต่อ ถึงผลการทดลองแอนติบอดี ค็อกเทล เพื่อยับยั้งไวรัสโคโรนา 2019

"ยาแอนติบอดี ค็อกเทล 1,200 มก.สามารถช่วยลดปริมาณเชื้อไวรัสในกระแสเลือดลงได้ ช่วยลดความเสี่ยงที่โรคโควิด-19 จะลุกลามไปสู่ระดับรุนแรงได้ 70% และยังสามารถช่วยลดระยะเวลาความเจ็บป่วยจากโควิด 19 ลงได้ถึง 4 วัน ส่วนในแง่ความปลอดภัย พบว่าผู้ป่วยโควิด 19 ที่ได้รับยาแอนติบอดี ค็อกเทล ยังมีโอกาสพบอาการข้างเคียงทั่วไปที่เจอได้ในยาฉีด เช่น ปฏิกิริยาการแพ้แบบรุนแรงและเฉียบพลัน (Anaphylaxis) หรือภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity)” 

  • คนที่สาม : นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร 

ข้อมูลอ้างอิงที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ ผลการทดสอบจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health - NIH) [1] ที่ระบุว่า ยาแอนติบอดี ค็อกเทลมีความไวต่อสายพันธุ์ต่างๆ ของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทั้ง เบตา (Beta) อัลฟา (Alpha) แกมมา (Gamma) เดลตา (Delta)

หมอวีรวัฒน์ บำราศนราดูร

​​​​​​และเนื่องจากยังไม่มีผลการทดลองแอนติบอดี ค็อกเทลในมนุษย์ (in vivo) นพ.วีรวัฒน์ กล่าวถึงการที่ สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health - NIH) และ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งอเมริกา (Infectious Diseases Society of America - IDSA) ต่างก็ประกาศข้อแนะนำการใช้กลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์อย่างมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization - EUA) เพื่อให้ใช้เป็นยารักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการระดับน้อยถึงปานกลาง และผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีความเสี่ยงสูง หรือก็คือโรคอาจดำเนินไปสู่ระดับรุนแรง

หมอวีรวัฒน์ยังเผยข้อมูลการใช้ยาจริง (real world evidence) ในอเมริกา ซึ่งครอบคลุมประชากรในหลายมลรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ฟลอริดา จอร์เจีย เซาเทิร์นมินนิโซตา ไอโอวา วิสคอนซิล หรือแอริโซนา พบว่า

ภายใน 30 วันหลังผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีความเสี่ยงสูงได้รับกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง และ/หรือ เข้าห้องฉุกเฉินน้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา อีกทั้งกลุ่มยาดังกล่าว ยังมีส่วนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอีกด้วย

ดังนั้น ยาแอนติบอดี ค็อกเทล จึงเป็นอีกตัวเลือกที่ช่วยบรรเทาผลกระทบต่างๆ จากวิกฤตโควิดระบาด อย่างไรก็ดี ต้องนำไปใช้ให้ตรงตามข้อบ่งใช้

“เมื่อเริ่มมีการใช้จริงในประเทศไทยในกลุ่มผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการและปัจจัยเสี่ยงสอดคล้องกับคำแนะนำการใช้ยา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและติดตามผลลัพธ์การรักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินความเหมาะสมและแนวทางการรักษาต่อไปในอนาคต” หมอวีรวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

แอนติบอดี ค็อกเทล

Source : thainews.prd.go.th

ญี่ปุ่นมาก่อนใคร  ให้ใช้ Antibody Cocktail เต็มรูปแบบชาติแรกของโลก!

เว็บไซต์ NIH ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ด้วย Antibody Cocktail ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ (NmAbs) ว่า อนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน 3 ชนิด ได้แก่ 

สำหรับประเทศไทย อ.ย.เผยข้อมูลเกี่ยวกับยา Antibody Cocktail ว่า เพิ่งนำเข้ามาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ โรช (Roche) และ รีเจนเนอรอน (Regeneron) ร่วมกันพัฒนาขึ้น ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง หรือผู้ป่วยสีเขียว และผู้ป่วยโควิดที่มีความเสี่ยงสูงว่า อาการจะลุกลามหรือรุนแรงยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ ยาดังกล่าวยังสามารถลดจำนวนเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ติดเชื้อ และลดระยะเวลาที่ต้องใช้เพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลลง 4 วัน ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง ตลอดจนลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ถึง 70%

เพิ่มเติมข้อมูลเรื่องภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์อีกด้านจาก นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ว่า การใช้ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ต้องใช้ตอนผู้ป่วยไม่มีอาการ เริ่มมีอาการ หรือคนที่ไปสัมผัสผู้ติดเชื้อมาแล้วให้ใช้ทันที ซึ่งการฉีดแอนติบอดีเข้าร่างกายโดยตรงนี้ ยาจะช่วยลบล้างเชื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปริมาณเชื้อมากหรือมีอาการรุนแรงแล้วอาจใช้ยานี้ไม่ได้ผล

ที่สำคัญ ถึงยาชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพดี แต่ก็ไม่อาจใช้ได้ทั่วไปเนื่องจาก "ยานี้ขึ้นทะเบียนที่อเมริกา ยุโรปบางส่วน ถามว่าทำไมไม่เอามาใช้ เพราะราคาโดสละ 41,000 บาท ปริมาณการใช้จะอยู่ที่ 1-8 โดส ถ้าใช้กับผู้ป่วย 17,000 คน ค่ายาจะอยู่ที่เดือนละ 2 หมื่นล้านบาท ไทยมีการนำเข้ายาแล้ว แต่คนที่จะใช้ต้องเสียเงินเอง"  หมอสมศักดิ์กล่าว

ปัจจุบันมีการใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล ในกรณีฉุกเฉินมากกว่า 20 ประเทศ และในขณะที่ไทยเพิ่งเริ่มใช้ ญี่ปุ่นอนุมัติให้ใช้ยา Casirivimab and imdevimab อย่างเต็มรูปแบบเป็นประเทศแรกของโลก ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (Ministry of Health, Labour and Welfare – MHLW)

ที่มา 

 
related