svasdssvasds

"นายกฯ" ตั้ง "เสรี วงษ์มณฑา" บริหารศูนย์สื่อสาร วางกลยุทธ์สื่อสาร ศบค.

"นายกฯ" ตั้ง "เสรี วงษ์มณฑา" บริหารศูนย์สื่อสาร วางกลยุทธ์สื่อสาร ศบค.

"นายกฯ" ตั้ง "เสรี วงษ์มณฑา" เป็นบรรณาธิการบริหาร ศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤต เพื่อวางกลยุทธ์สื่อสาร ศบค.

วันนี้ (16 ส.ค.64) เวลา 13.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 12/2564  ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยผ่อนคลายกิจกรรมให้เปิดธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างได้ เพิ่มการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อโดยใช้ ATK ใน กทม. และปริมณฑล เน้นรัฐ/เอกชนทำงานที่บ้าน WFH ยังคงห้ามออกนอกเคหสถาน 21.00-04.00 น. ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัดถึงสิ้นเดือนสิงหาคม นี้  เห็นชอบจัดตั้งศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤต โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ เพื่อวางกลยุทธ์สื่อสาร ศบค.

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลและศบค. กำลังเร่งควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ไทยที่ยังถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนให้ได้โดยเร็ว โดยได้เร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ทั้งในการเร่งรัดการจัดหาวัคซีน ปูพรมฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด การค้นหาผู้เสี่ยงติดเชื้อเชิงรุกและนำผู้ป่วยทุกคนเข้าระบบการรักษาให้เร็วที่สุด รวมถึงให้ผู้ป่วยติดเชื้อเข้าถึงยาให้ไวที่สุด การสร้างสถานที่กักตัวให้เพียงพอทั้งในประเภท Home Isolation (HI)  และ Community Isolation (CI) ให้เพียงพอทุกพื้นที่ รวมทั้งดูแลแรงงานและโรงงานในรูปแบบ Bubble and Seal ใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Tele-Medicine) ในระบบ HI และ CI  จัดระบบการส่งยา รวมทั้งติดตามการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร และสูตรยาอื่น ทั้งของยาจากต่างประเทศ เช่น Remdesivir หรือ Oseltamivir หรือ Hydroxychloroquine เพื่อให้ผู้ป่วยสีเหลืองและสีเขียวเข้าถึงยาได้กว้างขวางที่สุด รวมทั้งให้มีการจัดซื้อชุดตรวจ ATK อย่างโปร่งใส ชัดเจน ขณะเดียวกันต้องมีการจัดการขยะติดเชื้อแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง คือ การทิ้งขยะติดเชื้อที่ถูกต้อง การจัดเก็บ และปลายทาง คือ กระบวนการทำลายขยะติดเชื้อ

นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบบริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤต ตั้งศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤต มีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นเลขานุการ มีนายเสรี วงษ์มณฑา และนายเกษมสันต์ วีรกุล เป็นบรรณาธิการบริหาร เพื่อวางกลยุทธ์สื่อสาร ศบค. โดยขอให้ทุกฝ่ายเร่งสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชน ทั้งในรูปแบบคู่มือประชาชน คู่มือชุมชน ช่องทางติดต่อทั้งโทรศัพท์ สายด่วน ไลน์ แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ ของหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนทราบการปฏิบัติตัวตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ สิ่งที่สังคมต้องการ คือข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง มีความเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ ทั้งเรื่องวัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ ยาสมุนไพร สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทุกหน่วยต้องแก้ข่าวบิดเบือน (Fake News) ให้ทันท่วงที  

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า การบริหารสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นหัวข้อสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมการดำเนินงานของรัฐบาลทั้งมาตรการควบคุมและป้องกัน การจัดหาและกระจายวัคซีน ยา เวชภัณท์ มาตรการช่วยเหลือเยียวยา มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ใช้โอกาสนี้ชี้แจงให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริง และต้องมีการสื่อสารลงไปในระดับพื้นที่ด้วย 

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ดังนี้

การคงระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และตามมาตรการเดิม วันที่ 18 - 31 ส.ค. 2564

การเพิ่มมาตรการ และการจัดการขององค์กร อาทิ การตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อโดยใช้ ATK ใน กทม. และปริมณฑล จัดระบบการนำเข้าสู่ HI CI หรือรพ. -พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดยังคงเน้น WFH ต่อเนื่อง และพนักงานของ ภาครัฐ/เอกชน ที่ต้องมาปฏิบัติงาน ขอให้มีการคัดกรองด้วย ATK ทุกสัปดาห์ เพื่อให้มีความพร้อมก่อนการคลายล็อกดาวน์  -เตรียม Company Isolation สำหรับหน่วยงานที่มีพนักงานเกิน 50 คน -เร่งรัดการฉีดวัคซีน ให้มีความครอบคลุมของวัคซีนกลุ่มเสี่ยงอย่างน้อย 80% ในกทม. อย่างน้อย 70% ใน 12 จังหวัด และอย่างน้อย 50 % ในพื้นที่อื่น 

ให้ประชาชน องค์กร สถานประกอบการ สามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองได้ โดยรัฐสนับสนุนให้มีการใช้อย่างทั่วถึง และเน้นย้ำให้ประชาชน ใช้การป้องกันตนเองของประชาชนในทุกกรณี (Universal Prevention) รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาร่วมจัดทำ Thai Covid Pass เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ

ปรับมาตรการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด โดยให้เปิดกิจการธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าได้

 พร้อมทั้งเห็นชอบรับความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากต่างประเทศในการแลกวัคซีนโควิด 19 (AstraZeneca) ระหว่างรัฐบาลภูฏานกับรัฐบาลไทย และเห็นชอบการรับมอบ Monoclonal antibody จากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศเยอรมนี ของบริษัท Regeneron สำหรับการดูแลผู้ป่วยหนัก โดยมีการขึ้นทะเบียน อย.ไทย แล้ว

รวมทั้งเห็นชอบการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วม Phuket Sandbox เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น (7 + 7) ประกอบด้วยจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) จังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่) ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป โดยให้เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ สาธารณสุข ภายใต้มาตรการสาธารณสุขและการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีแผนรับมือหรือแผนชะลอหรือยกเลิกโครงการ รวมทั้งยังผ่อนผันการจัดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมร่วมกันของรัฐสภา และผ่อนผันการเคลื่อนย้ายในห้วงเวลาการห้ามออกนอกเคหสถานด้วยหากมีความจำเป็นเร่งด่วน

related