svasdssvasds

นายกฯ สนับสนุน วิจัยวัคซีนโควิด-19 ไทย เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข 

นายกฯ สนับสนุน วิจัยวัคซีนโควิด-19 ไทย เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข 

นายกรัฐมนตรี ประกาศสนับสนุน ยกระดับการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ในไทย เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข และก่อนปิดประชุม นายกฯ ได้กล่าวให้กำลังใจทุกคนว่า “ขอให้เราต้องมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ เพื่อร่วมมือกันทำงานเพื่อคนไทย และคงต้องร่วมกันทำในยุคนี้ รัฐบาลชุดนี้ด้วย”

27 ส.ค.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการประชุม ศบค. ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอให้มีการปรับมุมมองและยุทธศาสตร์การบริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยให้ประชาชนสามารถอยู่กับโรคได้อย่างปลอดภัย เพราะเชื่อว่าโควิดจะไม่หมดไปและจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น ศบค. จึงกำหนดเป้าหมาย ด้วยการควบคุมโรคให้สมดุลกับการดำรงชีวิตและสามารถทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลได้เริ่มดำเนินกิจกรรม โครงการแล้ว อาทิ Phuket Sandbox และ Samui Plus Model ซึ่งเป็นการทยอยเปิดกิจกรรมและในพื้นที่ที่มีความพร้อมตามเป้าหมายการเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นตอน ภายใต้ความปลอดภัยด้านสาธารณสุข DMHTT และมาตรการ Universal Prevention พร้อมฝากให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามความต้องการใช้ออกซิเจนทางการแพทย์ให้เพียงพอ และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันการลักลอบส่งออกถังออกซิเจนผิดกฎหมายด้วย  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดหาวัคซีนโควิดสำหรับเด็กอายุ 12-18 ปี ซึ่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานว่า ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนให้กับครูแล้วกว่า 573,656 คน และยังคงมีนักเรียนในระบบอีกประมาณ 4 ล้านคน  จากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุข คาดว่า ภายในสิ้นปีนี้ ไทยจะได้รับวัคซีนรวมทุกประเภท 140 ล้านโดส ก็ขอให้เดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยให้เร็วที่สุด สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ไทยมีอยู่ รวมทั้งให้เร่งรัดการเข้าถึงการตรวจโควิด-19 ด้วย ATK ด้วย

ขณะเดียวกัน นายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลพร้อมยกระดับงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนไทย เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข ครอบคลุมถึงการกระบวนการผลิต เพื่อให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนในอนาคตได้ และจากที่ได้ติดตามการพัฒนา วัคซีน ChulaCov19 (จุฬา-คอฟ-19) ชนิด mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งเป้าหมายขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ ในรูปแบบภาวะฉุกเฉินในช่วงเดือนเมษายน 2565 และวัคซีนใบยาที่ใช้เทคโนโลยีจากใบยาสูบ รัฐบาลพร้อมจัดสรรงบประมาณและเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

โฆษกรัฐบาล ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ศบค. ได้คลายล็อกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด สอดคล้องกับนายกรัฐมนตรีที่ห่วงใยการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชน โดยหวังให้ประชาชนสามารถดำเนินกิจการ/กิจกรรมทางได้ ด้วยการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโควิด สำหรับเปิดกิจการ/จัดกิจกรรมให้ปลอดภัย ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ภายใต้การยกระดับมาตรการป้องกัน Universal Prevention และ COVID Free Setting ในสถานที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยง 

และก่อนปิดประชุม นายกฯ ได้กล่าวให้กำลังใจทุกคนว่า “ขอให้เราต้องมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ เพื่อร่วมมือกันทำงานเพื่อคนไทย และคงต้องร่วมกันทำในยุคนี้ รัฐบาลชุดนี้ด้วย”

related