svasdssvasds

จากกรณี บิ๊กตู่ VS บิ๊กป้อม ย้อนรอยคนเคยรัก ทักษิณ VS จำลอง

จากกรณี บิ๊กตู่ VS บิ๊กป้อม ย้อนรอยคนเคยรัก ทักษิณ VS จำลอง

เรื่องราวปมแค้นของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ที่ชักนำทักษิณเข้าสู่วงการเมือง ก่อนจะเปิดศึกห่ำหั่นกัน ในฐานะศัตรูคู่อาฆาต

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการวิเคราะห์ว่า เกิดรอยร้าวขึ้นในกลุ่ม 3 ป. ระหว่าง "บิ๊กตู่ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ" และ รมว.กลาโหม ผู้เป็นน้องเล็ก กับ "บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกฯ ผู้เป็นพี่ใหญ่ แต่รอยร้าวดังกล่าวจะร้าวฉานจนกลายเป็นความแตกแยก นำไปสู่อวสาน 3 ป. หรือไม่ ? ก็ต้องจับตากันต่อไป

ซึ่งในแวดวงการเมืองนั้น ก็มีให้เห็นมานักต่อนัก ที่ว่ารักกันอย่างดูดดื่ม ก่อนกลายเป็นหมางเมิน และห่ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ดังกรณีระหว่าง "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กับ "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" เป็นต้น โดย SpringNews จะนำมาเล่าสู่กัน ดังต่อไปนี้

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

จำลอง ศรีเมือง ผู้นำทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่วงการเมือง

ย้อนไปเมื่อปี 2537 ช่วงที่ "รัฐบาลชวน หลีกภัย 1" กำลังจะปรับ ครม. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็ได้เดินทางไปยังตึกชินวัตร และขึ้นไปยังห้องทำงานของทักษิณ ก่อนเอ่ยปากเชิญมาเป็น รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ในโควต้าของ "พรรคพลังธรรม" เบื้องต้นทักษิณขอปรึกษาครอบครัวก่อน และได้ตอบตกลงในอีกไม่กี่วันต่อมา แล้วเส้นทางทางการเมืองของทักษิณ ก็เริ่มต้น ณ บัดนั้น

จึงสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นี่แหละ คือผู้ทำคลอดให้ทักษิณออกมาลืมตาดูโลกในทางการเมือง

แต่การที่ทักษิณเข้ามาเป็น รมว.ต่างประเทศ ในโควตาพรรคพลังธรรมในครั้งนั้น ก็ต้องแลกกับความเจ็บแค้นของ "น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ" รมว.การต่างประเทศ คนก่อน แต่เมื่อเป็นความต้องการของ พล.ต.จำลอง ผู้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม ก็ไม่มีใครในพรรคสามารถขัดขืนได้

 

ทักษิณ ชินวัตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม

ต่อมาในปี 2538 "รัฐบาลชวน หลีกภัย 1" ประกาศยุบสภา ทักษิณก็ได้รับการสนับสนุนจาก พล.ต.จำลอง ให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ในการเลือกตั้งครั้งนั้น "พรรคพลังธรรม" ก็ถือเป็นพรรคที่มีวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจยิ่ง สร้างสีสันในสนามเลือกตั้งด้วยไอเดียกระฉูดผ่านป้ายหาเสียงต่างๆ

แต่ผลที่ออกมา ก็ถือว่าค่อนข้างจะล้มเหลว เพราะในการเลือกตั้งครั้งนั้นจากการนำทัพของทักษิณ "พรรคพลังธรรม" ได้ ส.ส.เพียง 23 คน ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อน (ปี 2535/2) ที่ได้ ส.ส. 47 คน  

และต่อมา "บรรหาร ศิลปอาชา" นายกฯ ณ ขณะนั้น ก็ได้ประกาศยุบสภา ในปี 2539 ซึ่งในการเลือกตั้งปีนั้น ทักษิณก็ยังรับบทบาทเป็นหัวหน้าพรรค แต่ไม่ลงสมัคร ส.ส.ด้วย โดยพลังธรรมได้ ส.ส.แค่ 1 คน เท่านั้น

ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในปี 2539 พล.ต.จำลอง ก็ลงชิงตำแหน่งด้วย หวังกลับมาโลดแล่นทางการเมืองอีกครั้ง โดยทักษิณได้พยายามปรับลุคใหม่ให้กับ พล.ต.จำลอง เพื่อให้โดนใจคนรุ่นใหม่ ด้วยการจับแต่งตัวตามสมัยนิยม เดินหาเสียง แทนที่จะใส่เสื้อม่อฮ่อม ที่เป็นเอกลักษณ์ แต่แล้ว พล.ต.จำลอง ก็แพ้ศึกเลือกตั้งในครั้งนั้นไปอย่างบอบช้ำ  

ทักษิณ ชินวัตร

ทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย

ในช่วงเวลานั้น แม้ทักษิณจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ แต่สำหรับด้านการเมืองถือว่าเขาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่เขาประเมินว่า สาเหตุไม่ใช่เพราะตัวเองไม่มีกึ๋นทางด้านการเมือง แต่เป็นเพราะแนวทางของพรรคพลังธรรม ไม่ตอบโจทย์ของประเทศในยุคนั้น

ดังนั้นในปี 2541 ทักษิณจึงได้ก่อตั้ง "พรรคไทยรักไทย" ขึ้นมา วางแนวทางให้ตอบโจทย์โลกสมัยใหม่ และความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ พล.ต.จำลอง ก็ยังคงรักใคร่กันดี กระทั่ง "พรรคไทยรักไทย" ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2544 พล.ต.จำลอง ก็เป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษานายกฯ

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

รอยร้าวของระหว่าง ทักษิณ กับ พล.ต.จำลอง

จุดแตกหักที่ชัดๆ ระหว่างทั้งสอง เกิดขึ้นช่วง "การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ปี 2547" แต่ว่ากันว่าต่างฝ่ายคงสั่งสมความไม่พอใจซึ่งกันและกันมาอย่างยาวนานแล้ว กระทั่งมาถึงจุดที่เหลืออด จนกลายเป็นวิวาทะโต้ตอบกันฝ่ายสื่อ

โดยในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนั้น พล.ต.จำลอง ต้องให้ทักษิณและพรรคไทยรักไทย สนับสนุน "ดร.มานะ มหาสุวีระชัย" อดีตสมาชิกพรรคพลังธรรม

แต่ทักษิณก็บ่ายเบี่ยง เพราะ ดร.มานะ เคยทำให้ทักษิณ และ "สมาชิกพรรคไทยรักไทยสายพลังธรรมเดิม" ขุ่นเคืองใจ เนื่องจากไปสมัครเข้าพรรคประชาธิปัตย์ แทนที่จะเลือก "พรรคไทยรักไทย" ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากคู่แข่งอื่นๆ ในสนามเลือกตั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อภิรักษ์ โกษะโยธิน , ร.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หรือแม้กระทั่ง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็เป็นเรื่องลำบากที่จะดัน ดร.มานะ ให้ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งได้

เมื่อทักษิณมีท่าทีปฏิเสธไม่ทำตามความต้องการ พล.ต.จำลองจึงเริ่มแสดงท่าทีที่ไม่พอใจชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยครั้งหนึ่งเขาได้ตอบคำถามสื่อฯ ถึงการที่ตนสนับสนุน ดร.มานะว่า เพื่อให้เป็นแรงถ่วง ไม่ให้ทักษิณลืมตัวไปมากกว่านี้

แม้จะเป็นเหตุผลที่ทำเอาทักษิณจุกและเจ็บ แต่ก็พยายามไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย จึงเพียงกล่าวผ่านสื่อแบบติดตลกว่า “พี่จำลอง เปลี่ยนไป๋” (ล้อสโลแกนโฆษณาฮิต ในช่วงเวลานั้น)

แต่เมื่อเครื่องติดแล้ว มันก็ยากที่จะหยุด และ พล.ต.จำลองเลือกวิธีดับเครื่องชน โดยได้ให้สัมภาษณ์หลังจากนั้นว่า ที่ต้องสนับสนุน ดร.มานะ ก็เพื่อไถ่บาป ที่ตนเป็นคนชักนำทักษิณเข้ามาสู่วงการเมือง

ด้วยบุคลิกของทักษิณ ที่ปกติไม่ยอมให้ใครด่าฟรีๆ อยู่แล้ว ก็ฟิวส์ขาด จึงให้สัมภาษณ์สวนกลับไปว่า พล.ต.จำลองเป็นเพียงแค่คนรู้จัก ไม่เคยมีความสัมพันธ์อะไรเป็นพิเศษ

ซึ่งคำพูดดังกล่าว ก็ไม่ต่างอะไรกับการประกาศตัดขาด ตัดเยื่อใย ความสัมพันธ์ของคู่จึงแหลกสะบั้นลง นับจากนั้นมา

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

พล.ต.จำลอง ในฐานะแกนนำเสื้อเหลือง

หลังจาก "การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2547" ผ่านพ้นไป ปรากฏว่า "ดร.มานะ มหาสุวีระชัย" สอบตก ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 5 พล.ต.จำลอง ก็ได้หายเงียบไป

โดยในช่วงกลางปี 2548 "สนธิ ลิ้มทองกุล" ได้จัดรายการเมืองไทยสัญจร โจมตีทักษิณอย่างต่อเนื่อง และมีแนวร่วมขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ

ซึ่งจะว่าไปแล้ว ทักษิณกับสนธิก็เป็นอดีตคนเคยรักเช่นกัน ที่เคยสนิทสนมแนบแน่นก่อนมาผิดใจกัน และสร้างความโกรธแค้นให้กับสนธิ ถึงขนาดประกาศว่า “ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง” ในการจัดม็อบขับไล่รัฐบาลทักษิณ

และในช่วงต้นปี 2549 พล.ต.จำลองก็ปรากฏตัว และประกาศเข้าร่วมกับกลุ่มสนธิในการขับไล่รัฐบาลทักษิณ อีกทั้งยังมีบทบาทเป็นแกนนำคนสำคัญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มเสื้อเหลือง อีกด้วย

โดย พล.ต.จำลอง เป็นกำลังหลักในการโจมตีบดขยี้ทักษิณบนเวทีปราศรัย ราวกับคนไม่เคยรู้จักรักใคร่กันมาก่อน กระทั่งเกิดการรัฐประหาร  ปิดฉากรัฐบาลทักษิณ ในวันที่ 19 กันยายน 2549

ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวราวของคนเคยรัก ระหว่างทักษิณ ชินวัตร กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ส่วนในเคสของบิ๊กตู่ กับบิ๊กป้อม แม้วันนี้ทั้งสองยังบอกว่า รักกันดี ซึ่งทั้งทักษิณกับจำลอง ก็เคยเอ่ยคำๆ นี้ ก่อนจะเปิดฉากบดขยี้ห่ำหั่นกัน

แหล่งอ้างอิง

เบื้องหลัง “จำลอง” ชวน “ทักษิณ” เล่นการเมือง กับพรรคพลังธรรมช่วงขาลง ก่อนตั้งทรท.ผงาดนายก

จำลอง ศรีเมือง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539

คุณจำลองกับคุณทักษิณ

เบื้องหลัง “จำลอง” ชวน “ทักษิณ” เล่นการเมือง กับพรรคพลังธรรมช่วงขาลง ก่อนตั้งทรท.ผงาดนายก

related